2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่า : แม่ทัพเรือใหญ่แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ (ตอนที่ 3)
กองทัพเรือบาร์บาร็อสซ่าปฏิบัติการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สร้างปัญหาให้กับชาติยุโรปไม่น้อย อำนาจการปกครองของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺค่อย ๆ แผ่ขยายเข้าไปในแผ่นดินยุโรปเรื่อย ๆ ในปี ค.ศ.1530 (ตรงกับปี ฮ.ศ.951) จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมัน จึงได้ขอความช่วยเหลือจากอันเดรีย ดอเรีย ผู้บัญชาการเรือชาวเจนัวให้นำทัพต่อสู้กับกองทัพเรือบาร์บาร็อสซ่า
การประจันหน้าครั้งแรกระหว่างบาร์บาร็อสซ่ากับอันเดรียเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1531 ซึ่งบาร์บาร็อสซ่าสามารถเอาชนะเรือรบ 40 ลำของเขามาได้ สุลต่านสุลัยมานได้แสดงการขอบคุณและยกย่องค็อยรุดดีน บาร็บาร็อสซ่าเป็นการเฉพาะด้วย
ปีต่อมา ขณะที่สุลต่านสุลัยมานกำลังมุ่งหน้าไปพิชิตออสเตรีย ดอเรียก็ถือโอกาสเข้ายึดครองบางเมืองบนเขตชายฝั่งกรีซ อย่างไรก็ตาม คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺก็สามารถยึดคืนมาได้ในภายหลัง ตอนนั้นเองสุลต่านสุลัยมานจึงตระหนักว่า ท่านจำเป็นจะต้องมีกองทัพเรือที่แข็งแกร่งคอยป้องกันดินแดนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากการรุกรานของชาติยุโรป ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า จึงถูกเรียกตัวไปยังกรุงอิสลามบูล (เดิมคือ กรุงคอนสแตนติโนเปิล) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “กาปูดัน ปาชา” แม่ทัพเรือสูงสุดของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ
ในปี ค.ศ.1538 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ประกาศจัดทัพขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย ทหารชาวสเปน, โรมัน, โปรตุเกส, มอลต้า, เจนัว, เวเนเซีย, ฟลอเรนซ์ และวาติกัน กองทัพนี้มีชื่อว่า “กองทัพพันธมิตรศักดิ์สิทธิ์” นำโดยแม่ทัพอันเดรีย ดอเรีย พวกเขามีเป้าหมายสำคัญคือ การกำจัดบาร์บาร็อสซ่าและทำลายกองทัพเรืออุษมานียะฮฺให้จงได้
ในบรรดาศึกทั้งหลายที่บาร์บาร็อสซ่าเคยต่อสู้นั้น นี่เป็นศึกที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1538 ที่เมืองเพรเวซ่า (กรีซ) ในแง่ปริมาณแล้ว กองทัพบาร์บาร็อสซ่ามีจำนวนน้อยกว่ามาก และมีเพียง “กัลเลย์” หรือเรือพายขนาดเล็ก จำนวน 122 ลำเท่านั้นเอง ในขณะที่ฝ่ายดอเรียมีเรือใบมากถึง 300 ลำ บ้างก็ว่า 600 ลำเลยทีเดียว
แม้จำนวนจะน้อยกว่า แต่กองเรือบาร์บาร็อสซ่าใช้ความได้เปรียบบางอย่างเข้าต่อสู้กับศัตรู พวกเขาดึงศักยภาพของเรือกัลเลย์ออกมาใช้อย่างเต็มพิกัด เรือกัลเลย์ไม่จำเป็นต้องอาศัยลมเพื่อแล่นเรือ (เพราะเป็นเรือพาย) มีความคล่องตัวสูง และเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว แม้จะอยู่ในบริเวณอ่าวหรือเกาะที่ไม่มีลมพัดผ่านก็ตาม
กองเรือบาร์บาร็อสซ่าใช้ความได้เปรียบนี้ต่อสู้กับศัตรู ค็อยรุดดีนนำกองเรือของเขา แล่นผ่านช่องแคบเพรเวซ่าออกไปประจัญบานกับกองทัพพันธมิตรยุโรปตรง ๆ พวกเขาโหมกระหน่ำโจมตีอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเอาชนะกองเรือครูเสดได้สำเร็จ พวกเขาจมเรือของศัตรูไป 10 ลำ ยึดมาได้อีกเกือบ 40 ลำ และเผาทำลายไปอีก 3 ลำ โดยไม่เสียเรือกัลเลย์ของตัวเองเลยแม้แต่ลำเดียว
อีกทั้งยังสามารถจับทหารคริตเตียนกว่า 3,000 นายไว้เป็นเชลยศึกด้วย อย่างไรก็ตาม บาร์บาร็อสซ่าต้องสูญเสียนักรบของเขาไปประมาณ 400 คน และอีก 800 คนได้รับบาดเจ็บ ความหวาดกลัวได้แผ่กระจายไปทั่วกองทัพพันธมิตรยุโรป และแม้ว่าแม่ทัพเรือคนอื่น ๆ ของพวกเขาจะพยายามโน้มน้าวให้ยังคงสู้ต่อไป แต่สุดท้ายอันเดรีย ดอเรีย ก็ต้องยอมแพ้และสั่งให้ทหารที่เหลือรอดถอยทัพกลับไป
ชัยชนะของบาร์บาร็อสซ่าในศึกเพรเวซ่านี้ ได้นำคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺขึ้นสู่การเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่าใช้โอกาสนี้ในการเข้าจัดการป้อมปราการทั้งหลายของศัตรูในทะเลอีเจียนและไอโอเนียน (ในกรีซ) กระทั่งในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1540 รัฐเวเนเซียก็ได้ขอทำสัญญาสงบศึก และยอมรับในอำนาจของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺบนแผ่นดินดังกล่าว พร้อมกับจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ด้วย ชาวเจนัวเองก็ยอมแพ้ให้กับบาร์บาร็อสซ่า และยอมจ่ายญิซยะฮฺ (ภาษีคุ้มครอง) ให้แก่คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺทุกปี ทุกเครื่องที่กองทัพเรือจากยุโรปพยายายามจะบุกยึดแผ่นดินของอาณาจักรอิสลาม กองทัพเรือบาร์บาร็อสซ่าก็สามารถป้องกันไว้ได้เสมอ
เมื่อเห็นถึงอัจฉริยภาพของค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า ในปี ค.ศ.1540 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันถึงกับพยายามจะซื้อตัวบาร์บาร็อสซ่าไป ด้วยการเสนอตำแหน่งผู้บัญชาการเรือสูงสุดของกองทัพเรือโรมันให้กับเขา แต่ค็อยรุดดีนไม่ได้สนใจเลยแม้แต่น้อย เขาจงรักภักดีต่ออิสลามและคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺอย่างหนักแน่น
ต่อมา จักรพรรดิคาร์ล ที่ 5 ก็ได้ลงมาบัญชาการกองทัพเรือด้วยตัวเอง เขายกทัพมาหวังจะยึดแผ่นดินแอลจีเรียและทำลายกองทัพเรือบาร์บาร็อสซ่าให้ได้ แต่สภาพอากาศที่เลวร้ายและการป้องกันที่แข็งแกร่งของกองเรือบาร์บาร็อสซ่า ได้สร้างความเสียหายที่มากมายแก่กองทัพเรือโรมันอีกครั้ง สุดท้ายพวกเขาจึงถอดใจ ยอมแพ้ และต้องแล่นเรือกลับยุโรปด้วยมือเปล่า กระทั่งในปี ค.ศ.1544 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ก็ได้ขอทำสัญญาสงบศึกกับสุลต่านสุลัยมาน อัลกอนูนีย์
ในปี ค.ศ.1545 ค็อยรุดดีนถูกเรียกตัวไปยังกรุงอิสตันบูล และปีต่อมา เขาก็เสียชีวิตลงอย่างสงบที่นั่นด้วยวัย 79 ปี ร่างของเขาถูกฝั่งไว้ที่บริเวณช่องแคบบอสฟอรัส บาร์บาร็อสซ่าจากไป โดยทิ้งมรดกเป็นกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีอาณาจักรหรือรัฐไหนสามารถเทียบเคียงได้ตลอดช่วงหลายศตวรรษต่อมา ตำแหน่งแม่ทัพเรือสูงสุดแห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺถูกส่งต่อให้กับ “ตุรกูต ร็อยสฺ” ทหารเรือคนสนิทของค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่าเอง
จบ
——————————
อ้างอิง
1. خيرالدين بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%AE%D9%8A%D8%B1_%D8%A7%D9…
2. عروج بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%B9%D8%B1%D9%88%D8%AC_%D8…
3. “Hayreddin Barbarossa: Causing a Ruckus as the Notorious Pirate Redbeard” เขียนโดย Ḏḥwty ดู http://www.ancient-origins.net/…/hayreddin-barbarossa…
4. “From Pirate to Admiral: The Tale of Barbarossa” เขียนโดย John P. Rafferty ดู https://www.britannica.com/…/from-pirate-to-admiral-the…
5. “Admiral Hayreddin Barbarossa” เขียนโดย Kallie Szczepanski ดู https://www.thoughtco.com/admiral-hayreddin-barbarossa…