:: 4 ฟิตนะฮฺในสูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ ::
ในยุคที่เต็มไปด้วยฟิตนะฮฺนี้ เรามาพิจารณาคำสอนจากสูเราะฮฺอัลกะฮฟฺเถิด สูเราะฮฺที่อัลลอฮฺได้นำเสนอเรื่องเล่า 4 เรื่องที่เป็นเสมือนตัวแทนของสารที่พระองค์ต้องการส่งถึง
เรื่องเล่าแรก คือเรื่องเล่าของอัศหาบุลกะฮฟฺ หรือเยาวชนชาวถ้ำในช่วงแรกเริ่มของสูเราะฮฺนั้น บอกเล่าเรื่องราวของเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ได้หลบหนีจากภัยคุกคาม เพื่อปกป้องศรัทธาและศาสนาของตนเอง (หลังจากที่ได้ประกาศและยืนหยัดในความถูกต้องแล้ว)
เรื่องเล่าที่ 2 เกี่ยวกับเจ้าของสวน 2 สวน ที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สมบัติของโลกดุนยาให้กับเขา แต่ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นกลับทำให้เขาปฏิเสธศรัทธาและออกห่างจากอัลลอฮฺ มนุษย์นั้นบางครั้งก็หยิ่งผยองเพราะทรัพย์สินและผู้ติดตามที่มากมาย อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
وَكَانَ لَهُۥ ثَمَرٌ فَقَالَ لِصَٰحِبِهِۦ وَهُوَ يُحَاوِرُهُۥٓ أَنَا۠ أَكْثَرُ مِنكَ مَالًا وَأَعَزُّ نَفَرًا
และเขาได้รับผลิตผล เขาจึงได้กล่าวกับเพื่อนของเขา ขณะที่กำลังโต้เถียงกันว่า “ฉันมีทรัพย์สินมากกว่าท่าน และมีข้าบริวารมากกว่าด้วย” (อัลกะฮฟฺ 18 : 34)
หนึ่งในแง่คิดที่เรื่องเล่านี้ต้องการบอกก็คือ ทรัพย์สินที่มาก อิทธิพลที่สูง และผู้ติดตามที่เยอะ ทำให้มนุษย์หลงผิด ทระนงตน มีอีโก้ (ในทางลบ) และห่างไกลจากทางนำของอัลลอฮฺได้
ต่อมาในเรื่องเล่าที่ 3 อัลลอฮฺได้เล่าเรื่องราวของนบีมูซา เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบททดสอบในเรื่องความรู้ ในหะดีษบทหนึ่งระบุไว้ว่า นบีมูซาไม่คิดเลยว่าจะมีใครที่มีความรู้มากกว่าตนเอง อัลลอฮฺจึงประทานวะหฺยูลงมาเกี่ยวกับนบีคิฎรฺ และเรื่องเล่านี้ก็ทำให้ได้รู้ว่า ความรู้ที่อยู่ในคน ๆ หนึ่งนั้นอาจนำทำให้เขามีอีโก้และหยิ่งผยองได้เช่นกัน
สุดท้ายเรื่องเล่าที่ 4 เป็นเรื่องราวของซุลก็อรนัยนฺและฟิตนะฮฺในเรื่องอำนาจ อัลลอฮฺทรงประทานอำนาจแก่มนุษย์ก็เพื่อให้ใช้ปกป้องศาสนา (ดีน) ของพระองค์ ไม่ใช่เพื่อแสดงความหยิ่งผยองในแผ่นดินและยโสโอหังต่อพระองค์
แล้วในตอนท้ายของสูเราะฮฺนี้ อัลลอฮฺก็ได้เตือนสำทับถึงการงานที่ไร้ประโยชน์หรือขาดทุนที่สุด คือการที่มนุษย์รู้สึกหรือคิดไปเองว่า เขาได้ทำความดีที่มากมาย อาจจะเป็นการอะมั้ล หรือการบริจาค หรือการทำประโยชน์บางอย่างที่มากมาย แต่การงานนั้นกลับไม่มีคุณค่าใด ๆ ณ ที่อัลลอฮฺ เพราะมิได้ทำเพื่อพระองค์ และทำตามแนวทางที่พระองค์พอพระทัย พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
قُلْ هَلْ نُنَبِّئُكُمْ بِالأَخْسَرِينَ أَعْمَالا * الَّذِينَ ضَلَّ سَعْيُهُمْ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعًا
จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ว่า “ให้เราแจ้งแก่พวกท่านไหมเกี่ยวกับบรรดาผู้ขาดทุนยิ่งในการงาน? คือบรรดาผู้ที่การขวนขวายของพวกเขาสูญเปล่าไปในการมีชีวิตในโลกนี้ และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาได้ปฏิบัติความดีแล้ว” (อัลกะฮฟฺ 18 : 103-104)
นี่คือแง่คิดสำหรับพวกเราทุกคนว่า อย่าให้ความโปรดปรานทั้งหลายและบททดสอบต่าง ๆ ที่อัลลอฮฺทรงประทานให้กับเรานั้น เป็นสาเหตุให้เราผินหลังหรือหลีกหนีจากทางนำของพระองค์ รวมถึงรู้สึกทระนงตนและหยิ่งยโสในชีวิตบนโลกดุนยาที่ชั่วคราวนี้
ขอเชิญชวนทุกคนให้ศึกษาสูเราะฮฺอัลกะฮฟฺให้เข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น และขออัลลอฮฺทรงนำทางพวกเราทุกคนครับ