หะดีษเลขที่ 2
อิสลาม อีมาน อิหฺซาน
عَنْ عُمَرَ بْنِ الخَطَّاب رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : بَيْنَمَا نَحْنُ عِنْدَ رَسُوْلِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ذَاتَ يَوْمٍ، إِذْ طَلَعَ عَلَيْنَا رَجُلٌ شََدِيْدُ بَيَاضِ الثِّيَاب، شَدِيْدُ سَوَادِ الشَّعْرِ، لَا يُرَىَ عَلَيْهِ أَثَرُ السَّفَر، وَلَا يَعْرِفُهُ مِنَّا أَحَدٌ، حَتَّى جَلَسً إِلَى النَّبيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، فَأَسْنَدَ رُكْبَتَيْهِ إِلَى رُكْبَتَيْهِ، وَوَضَعَ كَفَّيْهِ عَلَى فَخِذَيْهِ
وَقَالَ : يَا مُحَمَّدُ، أَخْبِرْنِيْ عَنِ الإِسْلَامِ، فَقَال رَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ { الإِسْلَامُ أَنْ تَشْْهَدَ أَنْ لَا إِلَهَ إلَّا اللَّهُ، وَأَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ اللَّهِ، وَتُقِيْمَ الصَّلاَةَ، وَتُؤْتِيَ الزَّكَاةَ، وَتَصُوْمَ رَمَضَانَ، وَتَحُجَّ البَيْتَ إِنِ اسْتَطَعْتَ إِلَيْهِ سَبِيْلًا } قَالَ : صَدَقْتَ، قَالَ : فَعَجِبْنَا لَهُ يَسْأَلُهُ وَيُصَدِّقُهُ،
قَالَ : فَأَخْبِرْنِيْ عَنِ الإِيْمَان، قَالَ { أَنْ تُؤْمِنَ بِاللَّهِ وَمَلَائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ وَاليَوْمَ الآخِرِ وَتُؤْمِنَ بِالقَدَرِ خَيْرِهِ وَشَرِّهِ } قَالَ : صَدَقْتَ، قَالَ : فَأَخْبِرْنِيْ عَنِ الإِحْسَانِ، قَالَ { أَنْ تَعْبُدَ اللَّهَ كَأَنَّكَ تَرَاهُ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاكَ }
قَالَ : فَأَخْبِرنِيْ عَنِ السَّاعَةِ، قَالَ { مَا المَسْؤُوْلُ عَنْهَا بِأَعْلَمَ مِنَ السَّائِل } قَالَ : فَأَخْبِرنِيْ عَنْ أَمَارَتِهَا، قَالَ { أَنْْ تَلِدَ الأَمَةُ رَبَّتَهَا، وَأَنْ تَرَى الحُفَاةَ العُرَاةَ العَالَةَ رِعَاءَ الشَّاءِ يَتَطَاوَلُوْنَ فِِي البُنْيَانِ } ثُمَّ انْطَلَقَ، فَلَبِثْتُ مَلِيًّا، ثُمَّ قَالَ لِي { يَا عُمَرُ، أتَدْرِيْ مَنِ السَّائِلُ؟ } قُلْتُ : اللَّهُ وَرَسُوْلُهُ أَعْلَمُ، قَالَ { فَإِنَّهُ جِبْرِيْلُ أَتَاكُمْ يُعَلِّمُكُمْ دِيْنَكُم }
رواهُ مُسلِم
จากท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : วันหนึ่งขณะที่พวกเราอยู่กับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ชายคนหนึ่งก็ได้ปรากฏตัวแก่พวกเรา เขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาวมาก และผมก็ดำขลิบ ไม่เห็นมีร่องรอยของการเดินทาง และไม่มีใครเลยในหมู่พวกเราที่รู้จักเขา กระทั่งเขาเข้ามานั่งใกล้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม โดยที่หัวเข่าของเขาชนกับหัวเข่าของท่านนบี และเขาก็วางมือของเขาบนขาอ่อนของท่านนบี
แล้วกล่าวว่า “โอ้มุฮัมหมัด จงบอกฉันเกี่ยวกับอิสลาม” ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “อิสลามคือ (การที่) ท่านปฏิญาณตนว่า ‘ไม่มีพระเจ้า (ที่แท้จริง) อื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดคือเราะสูล (ศาสนทูต) ของอัลลอฮฺ, ท่านดำรงการละหมาด, ท่านจ่ายซะกาต, ท่านถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และท่านประกอบพิธีหัจญ์ที่อัลบัยตฺ (บัยตุลลอฮฺ) หากท่านสามารถไปปฏิบัติได้” เขาก็กล่าวว่า “ท่านพูดถูกต้องแล้ว” ท่านอุมัรกล่าวว่า : พวกเราต่างแปลกใจ เขาถาม แล้วเขาก็ยืนยันว่าถูกต้อง
เขากล่าวอีกว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับอีมาน (ความศรัทธา)” ท่านนบีตอบว่า “(อีมานคือการที่) ท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, มะลาอิกะฮฺของพระองค์, บรรดาคัมภีร์ของพระองค์, บรรดาเราะสูลของพระองค์, วันอาคิเราะฮฺ (โลกหน้า) และท่านเชื่อต่ออัลเกาะดัร (กฏกำหนดและลิขิตของพระเจ้า) ทั้งดีและร้าย” เขากล่าวว่า “ท่านพูดถูกต้องแล้ว” แล้วเขาก็กล่าวอีกว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับอิหฺซาน” ท่านนบีตอบว่า “(อิหฺซานคือการที่) ท่านอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่ออัลลอฮฺเสมือนท่านเห็นพระองค์ และแม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงเห็นท่าน”
ชายคนนั้นกล่าวอีกว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก) ” ท่านนบีตอบว่า “ผู้ที่ถูกถามเกี่ยวกับมัน ไม่ได้รู้มากไปกว่าผู้ถามหรอก” เขาจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น จงบอกฉันทราบเกี่ยวกับสัญญาณของมัน” ท่านนบีก็ตอบว่า “(ส่วนหนึ่งคือ) ทาสหญิงจะคลอดผู้เป็นนายของเธอเอง และท่านจะได้เห็นผู้คนที่ไม่สวมรองเท้า ไม่ใส่เสื้อผ้า เป็นคนยากจนข้นแค้น เป็นคนเลี้ยงแกะ แข่งขันกันสร้างตึกสูง” หลังจากนั้นชายคนนั้นก็จากไป ฉัน (ท่านอุมัร) นิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วท่านนบีก็ถามฉันว่า “อุมัร ท่านรู้ไหมว่าชายที่ถามนั้นเป็นใคร?” ฉันตอบว่า “อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์รู้ดีที่สุดครับ” ท่านนบีก็กล่าวว่า “แท้จริงแล้วเขาคือญิบรีล เขามายังพวกท่านเพื่อสอนศาสนาของพวกท่าน”
บันทึกโดยมุสลิม (หะดีษเลขที่ 8)
คำอธิบาย
นี่เป็นหะดีษที่ยิ่งใหญ่มาก ครอบคลุมการอธิบายศาสนาทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกล่าวในตอนท้ายว่า “นี่คือญิบรีลที่มาหาพวกท่านเพื่อสอนศาสนาของพวกท่าน” หลังจากที่ได้อธิบายระดับของอิสลาม ระดับของอีมาน และระดับของอิหฺสาน โดยท่านได้รวมทั้งหมดนี้ให้เป็นดีน (ศาสนา)
ใครที่ใคร่ครวญถึงสิ่งที่หะดีษที่ยิ่งใหญ่นี้ชี้นำ เขาจะรู้ว่าความรู้และวิชาการทั้งหมดล้วนย้อนกลับมาสู่หะดีษนี้และอยู่ภายใต้หะดีษบทนี้ และความรู้ของบรรดาผู้รู้จากทุก ๆ กลุ่มของประชาชาตินี้ล้วนแล้วมิได้หลุดออกนอกกรอบของหะดีษบทนี้และสิ่งที่หะดีษนี้ชี้นำเลย ทั้งโดยภาพรวมและโดยละเอียด
อธิบายหะดีษ
สำหรับ “อิสลาม” นั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อธิบายด้วยการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทั้งคำพูดและการกระทำ โดยเริ่มจากการปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการกระทำของลิ้น ต่อมาคือการดำรงการละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และการประกอบพิธีหัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ สำหรับผู้ที่มีความสามารถ
การปฏิบัติเหล่านี้แบ่งออกเป็นการงานทางกาย เช่น การละหมาดและการถือศีลอด, การงานโดยทรัพย์สิน คือการจ่ายซะกาต และการงานที่รวมทั้งสองอย่าง เช่น การทำหัจญ์สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากมักกะฮฺ
และสิ่งที่แสดงว่าการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดอยู่ในความหมายของ “อิสลาม” คือคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า “มุสลิมคือผู้ที่มุสลิมคนอื่นปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 10 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 40)
และรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอัมรู ว่า : ชายคนหนึ่งถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “อิสลามใดที่ประเสริฐที่สุด?” ท่านตอบว่า “(คือ) การให้อาหารและการกล่าวสลามแก่ผู้ที่ท่านรู้จักและไม่รู้จัก” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 12 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 39)
เช่นเดียวกัน การละเว้นสิ่งต้องห้ามก็อยู่ในความหมายของ “อิสลาม” ด้วย ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งจากความดีงามของอิสลามในตัวคน ๆ หนึ่ง คือการที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเขาเอง” และจะมีการกล่าวถึงในหัวข้อของมันต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
ส่วน “อีมาน” (การศรัทธา) นั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้อธิบายในหะดีษบทนี้ว่าหมายถึงความเชื่อมั่นภายในจิตใจ โดยท่านได้กล่าวว่า “การที่ท่านศรัทธาต่ออัลลอฮฺ, มะลาอิกะฮฺของพระองค์, บรรดาคัมภีร์ของพระองค์, บรรดาเราะสูลของพระองค์, การฟื้นคืนชีพหลังจากความตาย (โลกหน้า) และท่านเชื่อต่ออัลเกาะดัร (กฎกำหนดและลิขิตของพระเจ้า) ทั้งดีและร้าย” และอัลลอฮฺได้กล่าวถึงอีมานต่อรากฐานทั้ง 5 นี้ในหลายจุดของคัมภีร์ของพระองค์ เช่นในคำดำรัสที่ว่า
﴾ ءَامَنَ الرَّسُولُ بِمَا أُنزِلَ إِلَيْهِ مِن رَّبِّهِ، وَالْمُؤْمِنُونَ كُلُّ ءَامَنَ بِاللَّهِ وَمَلَبِكَيْهِ، وَكُتُبِهِ، وَرُسُلِهِ لَا نُفَرِّقُ بَيْنَ أَحَدٍ مِّن رُّسُلِهِ ﴿
เราะสูลศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เขาจากพระผู้เป็นเจ้าของเขา และบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทุกคนศรัทธาต่ออัลลอฮฺ มลาอิกะฮฺของพระองค์ คัมภีร์ของพระองค์ และบรรดาเราะสูลของพระองค์ (โดยที่) เราไม่แบ่งแยกระหว่างเราะสูลคนใดของพระองค์ (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 285)
การศรัทธาต่อบรรดาเราะสูลจำเป็นต้องศรัทธาต่อทุกสิ่งที่พวกท่านแจ้งไว้ ทั้งเรื่องมลาอิกะฮฺ บรรดานบี คัมภีร์ การฟื้นคืนชีพ อัลเกาะกัร (กฎกำหนดและลิขิตของพระเจ้า) และรายละเอียดอื่น ๆ ที่พวกท่านแจ้งไว้เกี่ยวกับคุณลักษณะของอัลลอฮฺและลักษณะของวันสุดท้าย (โลกหน้า) เช่น ตาชั่ง ศิรอฏ (สะพาน) สวรรค์ และนรก
การศรัทธาต่ออัลเกาะดัร (กฎกำหนดและลิขิตของพระเจ้า) ทั้งดีและร้าย
อายะฮฺเหล่านี้ได้รวมการศรัทธาต่ออัลเกาะดัร (กฎกำหนดของพระเจ้า) ทั้งดีและร้าย และเพราะคำกล่าวนี้เอง ท่านอิบนุอุมัรจึงได้รายงานหะดีษนี้เพื่อโต้แย้งผู้ที่ปฏิเสธเรื่องอัลเกาะดัร และอ้างว่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น คือเป็นเรื่องที่เพิ่งเริ่มต้นโดยไม่มีการกำหนด (หรือลิขิต) ใด ๆ จากอัลลอฮฺมาก่อน ท่านอิบนุอุมัรได้ต่อว่าพวกเขาอย่างรุนแรงและประกาศตัดความสัมพันธ์กับพวกเขา และได้แจ้งว่าการงานของพวกเขาจะไม่ถูกตอบรับหากปราศจากการศรัทธาต่ออัลเกาะดัร
หากมีผู้กล่าวว่า ในหะดีษนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แยกระหว่าง “อิสลาม” และ “อีมาน” และท่านได้จัดให้การปฏิบัติ (หรือการกระทำ) ทั้งหมดให้เป็นส่วนหนึ่งของ “อิสลาม” ไม่ใช่ “อีมาน” แต่ที่เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวสะลัฟและอะฮฺลุลหะดีษว่า “อีมาน”(ศรัทธา) นั้นประกอบด้วยคำพูด การกระทำ และเจตนา และการปฏิบัติทั้งหมดอยู่ในความหมายของ “อีมาน” อิมามอัชชาฟิอีย์ได้บอกเล่าถึงมติเอกฉันท์ของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และผู้ที่มาหลังจากพวกเขาที่ท่านได้พบเจอในเรื่องนี้ และชาวสะลัฟได้ปฏิเสธอย่างรุนแรงต่อผู้ที่แยกการปฏิบัติออกจากอีมาน
อัษเษารีย์กล่าวว่า “มันคือความเห็นที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เราพบว่าผู้คน (ชาวสะลัฟ) ยึดถือสิ่งอื่นจากนี้”
อัลเอาซาอีย์กล่าวว่า “บรรดาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจากชาวสะลัฟไม่แยกระหว่างการศรัทธาและการปฏิบัติ (อีมานและอะมัล) ออกจากกัน”
อุมัร บิน อับดุลอะซีซ ได้เขียนสารถึงชาวเมืองทั้งหลายว่า “อนึ่ง แท้จริงอีมานนั้นมีข้อบังคับ (ฟัรฎู) บทบัญญัติ (ชะรีอะฮฺ) ขอบเขต และแนวทาง ผู้ใดปฏิบัติมันอย่างครบถ้วน เขาได้ทำให้อีมานสมบูรณ์แล้ว และผู้ใดไม่ได้ปฏิบัติมันให้ครบถ้วน เขาก็ไม่ได้ทำให้อีมานสมบูรณ์”
มีผู้กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามที่ได้กล่าวมา และสิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันถึงการรวมการปฏิบัติ (หรือการกระทำ) เข้าไปอยู่ในอีมาน (การศรัทธา) ก็คือพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴾ إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ اللَّهُ وَجِلَتْ قُلُوبُهُمْ وَإِذَا تُلِيَتْ عَلَيْهِمْ آيَاتُهُ زَادَتْهُمْ إِيمَانًا وَعَلَى رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلَاةَ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنفِقُونَ أَوْلَئِكَ هُمُ الْمُؤْمِنُونَ حَقًّا ﴿
แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นคือบรรดาผู้ที่เมื่ออัลลอฮฺถูกกล่าวถึง หัวใจของพวกเขาจะหวั่นเกรง และเมื่อโองการทั้งหลายของพระองค์ถูกอ่านแก่พวกเขา มันจะเพิ่มพูนการศรัทธาแก่พวกเขา และพวกเขามอบหมายต่อพระผู้เป็นจ้าของพวกเขา บรรดาผู้ที่ดำรงละหมาดและบริจาคจากสิ่งที่เราได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขานั้น ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริง (อัลอันฟาล 8 : 2-4)
รายงานจากท่านอิบนุอับบาสว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวแก่คณะผู้แทนของอับดุลก็อยส์ว่า “ฉันขอสั่งใช้พวกท่าน 4 ประการ (คือ) การศรัทธาต่ออัลลอฮฺเพียงองค์เดียว และพวกท่านรู้หรือไม่ว่าการศรัทธาต่ออัลลอฮฺคืออะไร? คือการปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ การดำรงละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน และการจ่าย 1 ใน 5 ส่วนจากทรัพย์สินที่ได้มา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 53 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 17)
จากอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “อีมานมี 70 กว่าหรือ 60 กว่าสาขา สาขาที่ประเสริฐที่สุดคือคำกล่าว ‘ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ’ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ) และสาขาที่ต่ำที่สุดคือการขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายออกจากถนนหนทาง และความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอีมาน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 9 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 35)
และรายงานจากท่าน (อบูฮุร็อยเราะฮฺ) เช่นกัน : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ทำซินา (ผิดประเวณี) จะไม่ทำซินาขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา และผู้ที่ขโมยจะไม่ขโมยขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา และจะไม่ดื่มสุราขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2475 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 57)
หากการละทิ้งบาปใหญ่เหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “อีมาน” แล้ว คำว่า “อีมาน” ก็จะไม่ถูกปฏิเสธออกไปจากสิ่งเหล่านี้ เพราะคำเรียกหนึ่งนั้นจะไม่ถูกปฏิเสธออกไป นอกจากเมื่อบางส่วนของหลักการหรือสิ่งที่จำเป็นของมันได้หายไป[1]
การผสานระหว่างตัวบทที่ให้คำจำกัดความของ “อีมาน” และ “อิสลาม”
และสำหรับวิธีการรวมระหว่างตัวบทเหล่านี้กับหะดีษการถามของญิบรีลเกี่ยวกับ“อิสลาม” และ “อีมาน” และการที่ท่านนบีแยกระหว่างทั้งสอง และการรวมการกระทำ (อะมัล) เข้าไปในความหมายของ “อิสลาม” แต่ไม่รวมในความหมายของ “อีมาน” นั้น มันจะชัดเจนได้ด้วยการอธิบายหลักการหนึ่ง คือ :
ในบรรดาคำเรียกต่าง ๆ มีคำที่ครอบคลุมหลายความหมายเมื่อถูกกล่าวเดี่ยว ๆ และใช้ในบริบททั่วไป แต่เมื่อคำนั้นถูกกล่าวควบคู่กับคำอื่น มันจะบ่งชี้บางความหมายเป็นการเฉพาะ และคำที่ถูกกล่าวควบคู่ด้วยจะบ่งชี้ความหมายที่เหลือ เช่น คำว่า “ฟะกีร” (ยากจน) และ “มิสกีน” (ขัดสน) เมื่อกล่าวคำใดคำหนึ่งโดด ๆ จะหมายรวมทุกคนที่ขาดแคลน แต่เมื่อกล่าวทั้งสองคำควบคู่กัน คำหนึ่งจะบ่งชี้ถึงผู้ที่ขาดแคลนบางประเภท และอีกคำจะบ่งชี้ถึงประเภทที่เหลือ
ดังนั้น คำว่า “อิสลาม” และ “อีมาน” ก็เช่นเดียวกัน เมื่อกล่าวคำใดคำหนึ่งโดด ๆ อีกคำจะรวมอยู่ในความหมายนั้นด้วย และจะบ่งชี้ถึงสิ่งที่อีกคำบ่งชี้เมื่อกล่าวเดี่ยว ๆ ด้วย แต่เมื่อกล่าวทั้งสองคำควบคู่กัน คำหนึ่งจะบ่งชี้ถึงบางส่วนของสิ่งที่มันบ่งชี้เมื่อกล่าวเดี่ยว ๆ และอีกคำจะบ่งชี้ถึงส่วนที่เหลือ
บรรดาอิมามหลายท่านได้ชี้แจงอย่างชัดเจนด้วยความหมาย (หรือคำอธิบาย) นี้
และด้วยคำอธิบายโดยละเอียดนี้ ทำให้เห็นถึงความจริงของถ้อยคำในประเด็นเรื่อง“อิสลาม” และ “อีมาน” และขจัดความขัดแย้งให้หมดไป จึงกล่าวได้ว่า เมื่อคำว่า “อิสลาม”และ “อีมาน” ถูกกล่าวแยกกัน จะไม่มีความแตกต่างระหว่างทั้งสองในขณะนั้น แต่หากทั้งสองคำถูกกล่าวควบคู่กัน จะมีความแตกต่างระหว่างทั้งสอง
ข้อสรุปเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างทั้งสองคือ “อีมาน” คือการยืนยันของหัวใจ การยอมรับ และการรู้แจ้ง ส่วน “อิสลาม” คือการยอมจำนนของบ่าวต่ออัลลอฮฺ การนอบน้อม และการปฏิบัติตาม ซึ่งจะเป็นได้ด้วยการปฏิบัติ และนั่นคือศาสนา ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้เรียก “อิสลาม” ว่าเป็นศาสนาในคัมภีร์ของพระองค์[2]
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยกล่าวไว้ในดุอาอ์ของท่านเมื่อท่านละหมาดให้กับผู้เสียชีวิตว่า “โอ้อัลลอฮฺ ผู้ใดที่พระองค์ทรงให้มีชีวิตในหมู่พวกเรา ขอพระองค์ทรงให้เขามีชีวิตบนอิสลาม และผู้ใดที่พระองค์ทรงให้เสียชีวิตในหมู่พวกเรา ขอพระองค์ทรงให้เขาเสียชีวิตบนอีมาน” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 8809, อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 3201 และอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1024)
เพราะการปฏิบัติด้วยอวัยวะต่าง ๆ จะทำได้เฉพาะในขณะที่มีชีวิตเท่านั้น ในขณะที่เมื่อเสียชีวิตไปแล้วจะไม่เหลืออะไรอีกนอกจากการยืนยันด้วยหัวใจ
การปฏิบัติตามหลักการอิสลามเป็นหลักฐานยืนยันถึงความศรัทธาที่มั่นคงในหัวใจ
บรรดานักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญได้กล่าวว่า ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ทุกคนเป็นมุสลิม เพราะผู้ที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริงและมั่นคงในหัวใจย่อมปฏิบัติตามหลักการอิสลาม ดังที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า “พึงรู้เถิดว่าในร่างกายนั้นมีก้อนเนื้อก้อนหนึ่ง หากมันดีร่างกายทั้งหมดก็จะดี และหากมันเสียร่างกายทั้งหมดก็จะเสียด้วย พึงทราบเถิดว่ามันคือหัวใจ” [บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 52) และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1599)
ดังนั้น หัวใจจะไม่บรรลุถึงความศรัทธาอย่างแท้จริง นอกจากอวัยวะต่าง ๆ จะต้องขวนขวายในการปฏิบัติตามหลักการอิสลาม
แต่ไม่ใช่ว่ามุสลิมทุกคนจะเป็นผู้ศรัทธา เพราะบางครั้งความศรัทธาอาจอ่อนแอ ทำให้หัวใจไม่ได้บรรลุถึงความศรัทธาอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าอวัยวะจะปฏิบัติตามหลักการอิสลามก็ตาม ดังนั้น เขาจึงเป็นมุสลิม แต่ไม่ใช่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ที่สมบูรณ์ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴾ قَالَتِ الْأَعْرَابُ ءَامَنَّا قُل لَّمْ تُؤْمِنُوا وَلَكِن قُولُوا أَسْلَمْنَا وَلَمَّا يَدْخُلِ الْإِيمَانُ فِي قُلُوبِكُمْ ﴿
ชาวอาหรับชนบทกล่าวว่า “พวกเราศรัทธาแล้ว” จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ว่า “พวกท่านยังไม่ได้ศรัทธา แต่จงกล่าวว่า ‘พวกเราได้นอบน้อม (เข้ารับอิสลาม) แล้ว’ และความศรัทธายังไม่ได้เข้าไปในหัวใจของพวกท่าน” (อัลหุญุร็อต 49 : 14)
แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก) โดยสิ้นเชิงตามทัศนะที่ถูกต้องที่สุดใน 2คำอรรถาธิบาย ซึ่งเป็นทัศนะของท่านอิบนุอับบาสและคนอื่น ๆ แต่ความศรัทธาของพวกเขาอ่อนแอ
และสิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้คือพระดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า
﴾ وَإِن تُطِيعُوا اللَّهَ وَرَسُولَهُ لَا يَلِتْكُم مِّنْ أَعْمَالِكُمْ شَيْئًا ﴿
และหากพวกเจ้าเชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงลดทอนการงานใด ๆ ของพวกเจ้าเลย (อัลหุญุร็อต 49 : 14)
หมายถึง พระองค์จะไม่ทรงลดทอนผลบุญของการงานเหล่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขามีความศรัทธาในระดับที่ทำให้การงานของพวกเขาได้รับการตอบรับ
เช่นเดียวกับคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ต่อท่านสะอัด บินอบีวักกอศ เมื่อท่านถามว่า “ทำไมท่านไม่ให้คนนั้นทั้งที่เขาเป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ?” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า “หรือมุสลิม” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 27) และมุสลิม หะดีษเลขที่ 150)
ชี้ให้เห็นว่า เขายังไม่ได้บรรลุถึงระดับของความศรัทธา แต่อยู่ในระดับของการเป็นมุสลิมภายนอกเท่านั้น
ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่า เมื่อความศรัทธาภายในอ่อนแอ ย่อมส่งผลให้การปฏิบัติของอวัยวะภายนอกอ่อนแอตามไปด้วย แต่คำว่าความศรัทธา (อีมาน) จะถูกปฏิเสธจากผู้ที่ละทิ้งสิ่งที่จำเป็นต่าง ๆ ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ทำซินา (ผิดประเวณี) จะไม่ทำซินาขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา (หะดีษที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้)
อะฮฺลุสสุนนะฮฺมีความเห็นต่างกันว่า จะเรียกผู้ที่มีความศรัทธาบกพร่องว่าเป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) หรือจะกล่าวว่าเขาไม่ใช่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) แต่เป็นมุสลิม โดยแบ่งเป็น 2 ทัศนะ ซึ่งทั้งสองเป็นรายงานจากอิมามอะหมัด
ส่วนคำว่า “อิสลาม” นั้น จะไม่ถูกปฏิเสธด้วยการละทิ้งสิ่งที่จำเป็นบางประการ หรือการละเมิดข้อห้ามบางประการ แต่จะถูกปฏิเสธด้วยการกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับอิสลามโดยสิ้นเชิงเท่านั้น และไม่พบในหะดีษที่ถูกต้องใด ๆ ที่ปฏิเสธความเป็นอิสลามจากผู้ที่ละทิ้งสิ่งที่จำเป็นบางประการ เหมือนกับที่ความศรัทธาถูกปฏิเสธจากผู้ที่ละทิ้งสิ่งที่จำเป็นบางประการ แม้จะมีการใช้คำว่า “กุฟรฺ” (การปฏิเสธศรัทธา) กับการกระทำสิ่งต้องห้ามบางประการก็ตาม รวมถึงการใช้คำว่า “นิฟาก” (การกลับกลอก) ด้วยเช่นกัน
และเมื่อชัดเจนแล้วว่าคำว่า “อิสลาม” จะไม่ถูกปฏิเสธนอกจากด้วยกับสิ่งที่ขัดแย้งกับมันและทำให้ออกจากศาสนาโดยสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อคำว่า “อิสลาม” ถูกกล่าวโดยลำพังหรือมาพร้อมกับการยกย่อง “อีมาน” (ความศรัทธา) ทั้งหมด ทั้งการยอมรับและอื่น ๆ ก็รวมอยู่ในนั้นด้วย
และการปฏิญาณตน (ชะฮาดะฮฺ) ทั้งสองนั้นเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของอิสลามโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ และไม่ได้หมายถึงเพียงการกล่าวด้วยวาจาโดยปราศจากการยอมรับด้วยใจ จึงเป็นที่ทราบกันว่าการยืนยันในคำปฏิญาณทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของอิสลาม
ความศรัทธา (อีมาน) และการยืนยัน (ตัศดีก) มีระดับที่แตกต่างกันในหัวใจ
ในกรณีที่มีการปฏิเสธ “อีมาน” จากบุคคลหนึ่ง แต่ยังคงยืนยันสถานะของ “อิสลาม” ในตัวเขา เช่นกรณีของชาวอาหรับชนบท (อะอฺร็อบ) ที่อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ในอัลกุรอานนั้น การปฏิเสธอีมานในกรณีนี้หมายถึงการขาดความมั่นคงในหัวใจ แต่พวกเขายังคงมีส่วนร่วมในปฏิบัติอิสลามภายนอก พร้อมกับมีระดับของอีมานบางส่วนที่ทำให้การปฏิบัติของพวกเขาถูกต้องได้ หากปราศจากระดับของ “อีมาน” นี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถเป็นมุสลิมได้
และสาเหตุที่อีมานถูกปฏิเสธจากพวกเขานั้น เพราะพวกเขาขาดรสชาติที่แท้จริงของอีมาน และบกพร่องในบางส่วนของหน้าที่ที่จำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่า การยืนยัน (ตัศดีก) ในหัวใจนั้นมีระดับที่แตกต่างกันไป และสิ่งนี้เป็นความจริง
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “อีมาน” ของบรรดาสัตย์จริง (อัศศิดดีกีน) ที่สิ่งเร้นลับ (ฆ็อยบฺ) ถูกเปิดเผยแก่หัวใจของพวกเขาจนเสมือนว่ามันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด จนไม่มีความคลางแคลงใจหรือความสงสัยใด ๆ นั้น ย่อมไม่เหมือนกับอีมานของผู้ที่ยังไม่ถึงระดับนี้ ซึ่งหากถูกทำให้สงสัย ความสงสัยก็อาจเข้าสู่จิตใจได้
ด้วยเหตุนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงกำหนดให้ลำดับขั้นของ “อิหฺซาน” คือการที่บ่าวทำการอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเสมือนว่าเขามองเห็นพระองค์ ซึ่งสถานะเช่นนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นกับผู้ศรัทธาทั่วไป
มีผู้ถามท่านอิบนุอุมัรว่า “บรรดาเศาะหาบะฮฺเคยหัวเราะหรือไม่?” ท่านตอบว่า “แน่นอน แต่อีมานในหัวใจของพวกเขานั้น (มั่นคง) ประหนึ่งภูเขา”
แล้วอีมานเช่นนี้จะไปเทียบกับผู้ที่มีอีมานในหัวใจเท่าน้ำหนักธุลีหรือเมล็ดข้าวบาร์เลย์ได้หรือ?! เช่นบรรดาผู้ที่เป็นชาวเตาฮีด (ผู้ยืนยันในเอกานุภาพของอัลลอฮฺ) ที่ถูกนำออกจากนรก พวกเขาเหล่านี้ถือว่าถูกต้องที่จะกล่าวว่า การศรัทธายังไม่ได้เข้าสู่หัวใจของพวกเขาเนื่องจากความอ่อนแอของมัน
และประเด็นเกี่ยวกับอิสลาม อีมาน (การศรัทธา) กุฟรฺ (การปฏิเสธศรัทธา) และนิฟาก (การกลับกลอก) นั้นเป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากอัลลอฮฺได้ผูกความผาสุกและความทุกข์ยาก ตลอดจนการได้รับสวรรค์และนรกไว้กับสิ่งเหล่านี้ และความขัดแย้งในความหมายของสิ่งเหล่านี้ก็เป็นความขัดแย้งแรกที่เกิดขึ้นในประชาชาตินี้ด้วย
แก่นแท้ของระดับ “อิหฺสาน”
เกี่ยวกับ “อิหฺสาน” จากคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในการอธิบายความหมายของอิหฺสานที่ว่า
أَنْ تَعْبُدَ اللَّهَ كَأَنَّكَ تَرَاهُ
“(การที่) ท่านอิบาดะฮฺ (เคารพภักดี) ต่ออัลลอฮฺเสมือนท่านเห็นพระองค์”
คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า บ่าวจะต้องอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺในลักษณะนี้ คือการตระหนักถึงความใกล้ชิดของพระองค์ และการที่เขาอยู่เบื้องหน้าพระองค์ราวกับว่าเขามองเห็นพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่ความหวั่นเกรง ความเกรงกลัว ความเคารพ และการให้ความยิ่งใหญ่ ดังที่มีมาในรายงานของท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ที่ว่า “ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺเสมือนว่าท่านมองเห็นพระองค์” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 10)
และยังนำไปสู่ความจริงใจในการทำอิบาดะฮฺ การทุ่มเทความพยายามในการทำให้ดี สมบูรณ์ และครบถ้วนมากขึ้น
ส่วนคำกล่าวที่ว่า:
فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تَرَاهُ فَإِنَّهُ يَرَاكَ
“…และแม้ว่าท่านไม่เห็นพระองค์ แท้จริงพระองค์ทรงเห็นท่าน”
มีผู้กล่าวว่า นี่คือเหตุผลสนับสนุนประโยคแรก เพราะเมื่อบ่าวถูกใช้ให้รู้สึกใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺในการทำอิบาดะฮฺ และให้ตระหนักถึงความใกล้ชิดของพระองค์ต่อบ่าวของพระองค์ จนราวกับว่าบ่าวได้มองเห็นพระองค์ บางครั้งมันอาจเป็นเรื่องที่ยากไปสำหรับเขา ดังนั้น เขาจึงขอความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวผ่านการศรัทธาว่าอัลลอฮฺทรงเห็นเขา ทรงล่วงรู้ทั้งความลับและสิ่งเปิดเผยของเขา ทั้งภายในและภายนอกของเขา และไม่มีสิ่งใดในกิจการของเขาที่ซ่อนเร้นจากพระองค์
เมื่อเขาบรรลุถึงระดับนี้แล้ว การก้าวไปสู่ระดับที่ 2 ก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขา นั่นคือการเพ่งมองอย่างต่อเนื่องด้วยสายตาแห่งหัวใจ (บะศีเราะฮฺ) ไปยังความใกล้ชิดของอัลลอฮฺต่อบ่าวของพระองค์และการอยู่เคียงข้างเขา จนราวกับว่าเขาได้มองเห็นพระองค์
และมีผู้กล่าวอีกว่า แท้จริงแล้วมันชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่รู้สึกยากลำบากในการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺเสมือนเขาได้เห็นพระองค์นั้น ก็ให้เขาอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺบนพื้นฐานที่ว่าอัลลอฮฺทรงมองเห็นเขาและทรงสอดส่องดูเขา เขาจึงควรละอายที่พระองค์ทรงมองเขา ดังที่ผู้รู้แจ้งบางท่านได้กล่าวว่า “จงยำเกรงอัลลอฮฺ อย่าให้พระองค์เป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาผู้ที่มองดูท่าน”
และบางท่านกล่าวว่า “จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ (เดชานุภาพ) ของพระองค์เหนือตัวท่าน และจงละอายต่ออัลลอฮฺให้เหมาะสมกับระดับความใกล้ชิดของพระองค์ต่อตัวท่าน”
นี่คือแก่นแท้ของระดับ “อิหฺสาน” ที่ถูกกล่าวถึงในหะดีษญิบรีล และผู้ที่อยู่ในระดับนี้จะมีความแตกต่างกันตามระดับความแหลมคมของสายตาแห่งหัวใจ (บะศีเราะฮฺ)
วันสินโลกและสัญญาณต่าง ๆ
เมื่อญิบรีลถามว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก)” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ตอบว่า
مَا المَسْؤُوْلُ عَنْهَا بِأَعْلَمَ مِنَ السَّائِل
“ผู้ที่ถูกถามเกี่ยวกับมัน ไม่ได้รู้มากไปกว่าผู้ถามหรอก”
หมายถึง ความรู้ของสิ่งถูกสร้างทั้งหมดเกี่ยวกับเวลาของวันกิยามะฮฺนั้นเท่าเทียมกัน นี่คือการบ่งชี้ว่าอัลลอฮฺทรงสงวนความรู้ในเรื่องนี้ไว้กับพระองค์เท่านั้น
รายงานจากท่านอิบนุอุมัร : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “กุญแจทั้งหลายที่ไขสิ่งเร้นลับนั้นมี 5 ประการ ซึ่งไม่มีผู้ใดรู้นอกจากอัลลอฮฺ” แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺนี้
﴾ إِنَّ اللَّهَ عِندَهُ عِلْمُ السَّاعَةِ ﴿
แท้จริงอัลลอฮฺนั้น ณ ที่พระองค์มีความรู้เกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ (ลุกมาน 31 : 34) (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1039)
คำกล่าวที่ว่า “จงบอกฉันเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก)” หมายถึง สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการใกล้มาถึงของมัน ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวถึงสัญญาณของวันกิยามะฮฺไว้ 2 ประการ
สัญญาณที่ 1 :
أَنْ تَلِدَ الأَمَةُ رَبَّتَهَا
“ทาสหญิงจะคลอดผู้เป็นนายของเธอเอง”
โดยคำว่า “ร็อบบะฮฺ” หมายถึง นายหญิงและเจ้าของตัวเธอ
คำกล่าวนี้ “ทาสหญิงจะคลอดผู้เป็นนายของเธอเอง” ถูกอธิบายว่า จะมีการนำเข้าทาสจำนวนมาก กระทั่งมีการนำเข้าลูกสาว แล้วเธอได้รับการปลดปล่อย จากนั้นมีการนำเข้าแม่ของเธอ แล้วลูกสาวก็ซื้อแม่มาและใช้งานแม่โดยไม่รู้ว่านั่นคือแม่ของตนเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในอิสลาม
และสัญญาณที่ 2 :
أَنْ تَرَى الحُفَاةَ العُرَاةَ العَالَةَ
“ท่านจะได้เห็นผู้คนที่ไม่สวมรองเท้า ไม่ใส่เสื้อผ้า เป็นคนยากจนข้นแค้น”
คำว่า “อาละฮฺ” (العَالَة) หมายถึง คนยากจน เหมือนดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴾ وَوَجَدَكَ عَائِلًا فَأَغْنَى ﴿
และพระองค์ทรงพบทเจ้าในสภาพที่ยากจน แล้วพระองค์ก็ทำให้เจ้ามั่งมี (อัฎฎุฮา 93 : 8)
และคำกล่าวที่ว่า
رِعَاءَ الشَّاءَ يَتَطَاوَلُوْنَ فِي البُنْيِانِ
“เป็นคนเลี้ยงแกะแข่งขันกันสร้างตึกสูง”
ดังที่ปรากฏในหะดีษของท่านอุมัร หมายถึงคนชั้นล่างของสังคมจะกลายเป็นผู้นำและมีทรัพย์สินมากมาย กระทั่งแข่งขันกันสร้างตึกสูง ตกแต่งอย่างหรูหรา และทำให้มั่นคงแข็งแรง
มีหะดีษหลายบทที่สื่อถึงความหมายนี้ มีรายงานหะดีษของท่านหุซัยฟะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “วันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าคนที่มีความสุขที่สุดในโลกนี้จะเป็นคนที่ต่ำช้า ลูกของคนต่ำช้า (หรือ คนไร้เกียรติ ลูกของคนไร้เกียรติ)” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 23303 และอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2209)
จากท่านอนัส : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ก่อนวันกิยามะฮฺเกิดขึ้น จะมีปีแห่งการหลอกลวง คนที่ซื่อสัตย์จะถูกกล่าวหา และคนที่ทรยศจะได้รับความไว้วางใจ และรุวัยบิเฎาะฮฺจะพูด” พวกเขา (บรรดาเศาะหาบะฮฺ) ถามว่า “รุวัยบิเฎาะฮฺคืออะไรหรือครับ?” ท่านตอบว่า “คนเขลาที่พูดเรื่องสาธารณะ” และในอีกรายงานหนึ่ง (ท่านนบีกล่าวว่า) “คนชั่วที่พูดเรื่องสาธารณะ” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 7912 และอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 4036)
และเนื้อหาของสัญญาณวันกิยามะฮฺที่กล่าวถึงในหะดีษบทนี้สามารถสรุปได้ว่า กิจการต่าง ๆ จะถูกมอบให้กับผู้ที่ไม่เหมาะสม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวแก่ผู้ที่ถามท่านเกี่ยวกับวันกิยามะฮฺว่า “เมื่อกิจการถูกมอบให้กับผู้ที่ไม่เหมาะสม ก็จงรอคอยวันกิยามะฮฺเถิด” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 59)
เพราะเมื่อคนที่ไม่สวมรองเท้า ไม่ใส่เสื้อผ้า เป็นคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นคนเขลาและหยาบกระด้าง กลายเป็นผู้นำของผู้คนและเป็นเจ้าของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน กระทั่งแข่งขันกันสร้างตึกสูง ระบบของศาสนาและโลกก็จะเสียหาย เพราะเมื่อผู้ที่เคยยากจนขัดสนกลายเป็นผู้ปกครองเหนือผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการปกครองทั่วไปหรือเฉพาะเจาะจงในบางเรื่อง เขาแทบจะไม่ได้ให้สิทธิ์แก่ผู้คนเลย แต่จะเห็นแก่ตัวในทรัพย์สมบัติที่เขาครอบครอง
ชาวสะลัฟบางท่านกล่าวว่า “การที่ท่านยื่นมือเข้าไปในปากมังกรเพื่อให้มันกัดนั้น ยังดีกว่าการยื่นมือไปหาคนรวยที่เคยผ่านความยากจนมาก่อน”
และเมื่อเขาเป็นคนที่เขลาและหยาบกระด้าง ศาสนาก็จะเสียหาย เพราะเขาจะไม่สนใจในการปรับปรุงศาสนาของผู้คนและสอนพวกเขา แต่จะสนใจแต่เพียงการเก็บเกี่ยวภาษีและสะสมคลังสมบัติ ไม่สนใจว่าศาสนาของผู้คนจะเสียหายหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจะเดือดร้อน
และเมื่อผู้ปกครองและผู้นำของผู้คนอยู่ในสภาพนี้ สถานการณ์ทั้งหมดก็จะพลิกผัน คนโกหกจะถูกเชื่อ คนพูดจริงจะถูกกล่าวหาว่าโกหก คนทรยศจะได้รับความไว้วางใจ คนซื่อสัตย์จะถูกกล่าวหาว่าทรยศ คนโง่จะออกมาพูด คนรู้จะนิ่งเงียบหรือหายไปทั้งหมด
เฉกเช่นที่มีการยืนยันจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงส่วนหนึ่งของสัญญาณวันกิยามะฮฺคือ ความรู้จะถูกยกขึ้น และความเขลาจะปรากฏให้เห็น” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 80 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2671)
ทั้งหมดนี้เป็นการพลิกผันของความเป็นจริงในยุคสุดท้ายและการกลับหัวกลับหางของกิจการงานต่าง ๆ
ในคำกล่าวที่ว่า “แข่งขันกันสร้างตึกสูง” เป็นหลักฐานถึงการตำหนิต่อการโอ้อวดและอวดอ้างความเหนือกว่า โดยเฉพาะในเรื่องการสร้างตึกสูง
การสร้างอาคารสูงไม่เป็นที่รู้จักในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน แต่อาคารของพวกเขาจะเตี้ยตามความจำเป็น
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “วันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าผู้คนจะแข่งขันกันสร้างตึกสูง” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 7121)
และหุร็อยษฺ บินอัสสาอิบ ได้กล่าวว่า รายงานจากท่านอัลหะสัน ซึ่งได้กล่าวว่า “ฉันเคยเข้าไปในบ้านของบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในยุคการปกครองของท่านอุษมาน ซึ่งฉันสามารถแตะเพดานบ้านได้ด้วยมือของฉันเอง” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ในหนังสือ “อัลอะดะบุล มุฟร็อด” หะดีษเลขที่ 450)
และจากท่านอนัส : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “วันกิยามะฮฺจะไม่เกิดขึ้น จนกว่าผู้คนจะโอ้อวดกันในเรื่องมัสยิด” (บันทึกโดยอะหมัด หะดีษเลขที่ 12379, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 739 และอบูดาวูด หะดีษเลขที่ 449)
——————-
[1] หรือกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เมื่อท่านนบีกล่าวว่า ผู้ทำบาปใหญ่ขณะทำบาปนั้นไม่ได้มีอีมาน แสดงว่าการหลีกเลี่ยงบาปใหญ่ก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของอีมาน เพราะเราจะไม่สามารถบอกได้ว่าใครสูญเสียอีมานไปบ้าง นอกจากเขาจะขาดองค์ประกอบสำคัญหรือสิ่งที่จำเป็นของอีมานไป – ผู้แปล
[2] คือดำรัสของพระองค์ที่ว่า
﴾ الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا ﴿
วันนี้ข้าได้ให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว และข้าได้ให้ความโปรดปรานของข้าครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้า (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 3)