หะดีษเลขที่ 5
การอุตริสิ่งใหม่ในศาสนา
عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا قَالَتْ : قَالَ رَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ { مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ }
رَوَاهُ البُخَارِيُّ وَمُسْلِمٌ، وَفِيْ رِوَايَةٍ لِمُسْلِمٍ { مَنْ عَمِلَ عَمَلًا لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنا فَهُوَ رَدٌّ }
هَذَا الحَدِيْثُ خَرَّجَاهُ فِي الصَّحِيْحَيْنِ
จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ใครที่อุตริในกิจการ (ศาสนา) ของเรานี้ที่เราไม่ได้สั่งใช้ สิ่งนั้นย่อมถูกปฏิเสธ”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม และในรายงานของมุสลิม ระบุว่า “ใครที่กระทำการงานใดการงานหนึ่งที่ไม่มีคำสั่ง (ศาสนา) ของเรา การงานนั้นย่อมถูกปฏิเสธ”
หะดีษนี้มีบันทึกในหนังสือเศาะฮีหฺทั้งสอง (อัลบุครีย์ หะดีษเลขที่ 2697 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1718)
คำอธิบาย
หะดีษบทนี้รากฐานที่ยิ่งใหญ่ข้อหนึ่งจากบรรดารากฐานของอิสลาม มันเปรียบเสมือนตาชั่งสำหรับการงานภายนอก เช่นเดียวกับที่หะดีษ “การงานทั้งหลายขึ้นอยู่กับเจตนา” เป็นตาชั่งสำหรับการงานภายใน ดังนั้น การงานใดที่ไม่ได้มุ่งหวังพระพักตร์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา ผู้กระทำก็จะไม่ได้รับผลบุญใด ๆ จากมัน เช่นเดียวกันนั้น การงานใดที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานคำสั่งของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ มันก็จะถูกตีกลับไปยังผู้กระทำ และทุกคนที่อุตริกรรมสิ่งใหม่ในศาสนาที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ไม่ได้อนุญาต สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของศาสนาแต่อย่างใด
อธิบายหะดีษ
หะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นด้วยถ้อยคำของมันว่า ทุกการงานที่ไม่ได้วางอยู่บนคำสั่งของผู้บัญญัติศาสนา (คืออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์) จะถูกตีกลับไป และยังชี้ให้เห็นด้วยความหมายของมันว่า ทุกการงานที่วางอยู่บนคำสั่งของพระองค์ก็จะไม่ถูกตีกลับ (หรือปฏิเสธ)
และความหมายของ “คำสั่งของพระองค์” ในที่นี้คือศาสนาและบทบัญญัติของพระองค์ เหมือนกับความหมายของคำพูดของท่านบีในรายงานอื่นที่ว่า “ใครที่อุตริสิ่งใหม่ในกิจการ (ศาสนา) ของเรานี้ที่เราไม่ได้สั่งใช้ สิ่งนั้นย่อมถูกปฏิเสธ”
ประเภทของการงาน
การงานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ อิบาดะฮฺ (การเคารพภักดี) และมุอามะลาต (การปฏิสัมพันธ์)
สำหรับอิบาดะฮฺนั้น หากมีสิ่งใดออกนอกบทบัญญัติของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ไปโดยสิ้นเชิง สิ่งนั้นจะถูกตีกลับไปยังผู้กระทำ และผู้กระทำจะอยู่ภายใต้ดำรัสของพระองค์ที่ว่า
﴾ أَمْ لَهُمْ شُرَكَاءُ شَرَعُوا لَهُم مِّنَ الدِّينِ مَا لَمْ يَأْذَنُ بِهِ اللَّهُ ﴿
หรือว่าพวกเขามีบรรดาภาคีที่บัญญัติศาสนาแก่พวกเขาในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้ทรงอนุญาต (อัชชูรอ 42 : 21)
ดังนั้น ใครที่พยายามเข้าใกล้อัลลอฮฺด้วยการงานที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ไม่ได้กำหนดให้เป็นการเข้าใกล้พระองค์ การงานของเขาก็เป็นโมฆะและถูกตีกลับ และเขามีสภาพคล้ายบรรดาผู้ที่การละหมาดของพวกเขา ณ บัยตุลลอฮฺเป็นเพียงการผิวปากและปรบมือ และนี่เหมือนกับผู้ที่พยายามเข้าใกล้อัลลอฮฺ ตะอาลาด้วยการฟังเครื่องดนตรี หรือเต้นรำ และสิ่งที่คล้ายคลึงกันจากบรรดาสิ่งอุตริที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ไม่ได้บัญญัติให้ใช้ในการเข้าใกล้พระองค์โดยสิ้นเชิง
และสิ่งที่เป็นการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺในอิบาดะฮฺหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการเข้าใกล้ในอิบาดะฮฺอื่นเสมอไป ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยเห็นชายคนหนึ่งยืนกลางแดด ท่านจึงถามเกี่ยวกับเขา แล้วมีผู้ตอบว่า “เขาได้บนบานว่าจะยืนตรง ไม่นั่งลง ไม่หลบร่ม และจะถือศีลอด” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จึงสั่งให้เขานั่งลงและหลบในร่ม และให้ถือศีลอดจนเสร็จสมบูรณ์ (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6704)
ท่านนบีไม่ได้ถือว่าการยืนและการตากแดดของเขาเป็นการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺที่จะต้องกระทำตามที่บนบานไว้ แม้ว่าการยืนจะเป็นอิบาดะฮฺในสถานการณ์อื่น เช่น การละหมาด การอะซาน การขอดุอาอ์ที่อะเราะฟะฮฺ และการตากแดดเป็นการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺสำหรับผู้ที่อยู่ในอิหฺรอม (ช่วงทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ) นี่แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่เป็นการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺในสถานที่หนึ่งจะเป็นการเข้าใกล้ในทุกสถานที่ แต่ให้ปฏิบัติตามที่บทบัญญัติได้ระบุไว้ในแต่ละกรณี
และเช่นเดียวกัน ผู้ที่พยายามเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺด้วยอิบาดะฮฺที่ถูกห้ามโดยเฉพาะ เช่น ผู้ที่ถือศีลอดในวันอีด หรือละหมาดในเวลาต้องห้าม (ถือเป็นโมฆะและถูกปฏิเสธ)
ส่วนผู้ที่ทำการงานที่พื้นฐานของมันถูกบัญญัติไว้และเป็นการเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ แล้วได้เพิ่มเติมสิ่งที่มิได้ถูกบัญญัติเข้าไป หรือละเลยสิ่งที่ถูกบัญญัติ เขาคนนี้ก็ขัดแย้งกับบทบัญญัติตามระดับของสิ่งที่เขาละเลยหรือเพิ่มเติมเข้าไป แต่การงานของเขาจะถูกตีกลับทั้งหมดหรือไม่? เรื่องนี้ไม่สามารถตัดสินอย่างเด็ดขาดว่าถูกตีกลับหรือถูกตอบรับ แต่ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้ :
หากสิ่งที่เขาละเลยเป็นส่วนประกอบหรือเงื่อนไขของการงานที่สามารถทำให้การงานนั้นเป็นโมฆะตามบทบัญญัติของศาสนา เช่น ผู้ที่ละเลยการทำความสะอาด (วุฎูอ์) สำหรับการละหมาดทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้ หรือผู้ที่ละเลยการรุกูอฺ หรือการสุญูด หรือการนิ่งสงบในทั้งสอง การงานของเขาก็จะถูกตีกลับ (ปฏิเสธ) และหากเขาจะต้องทำใหม่หากมันเป็นฟัรฎู (ข้อบังคับ)
และหากสิ่งที่เขาละเลยไม่ได้ทำให้การงานเป็นโมฆะ เช่น ผู้ที่ละเลยการละหมาดญะมาอะฮฺสำหรับละหมาดฟัรฎู ในทัศนะของผู้ที่ถือว่ามันเป็นวาญิบ (จำเป็น) แต่ไม่ใช่เงื่อนไขนั้น กรณีนี้เราจะไม่พูดว่าการงานของเขาถูกตีกลับทั้งหมด แต่เป็นเพียงการงานที่บกพร่อง
และหากเขาได้เพิ่มเติมสิ่งที่ไม่ได้ถูกบัญญัติเข้าไปในการงานที่ถูกบัญญัติ การเพิ่มเติมนั้นจะถูกตีกลับ ในความหมายที่ว่ามันไม่ใช่การเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺและไม่ได้รับผลบุญ และบางครั้งมันอาจทำให้การงานนั้นเป็นโมฆะทั้งหมก (จากรากฐาน) แล้วกลายเป็นการงานที่ถูกตีกลับไป เช่น ผู้ที่ตั้งใจเพิ่ม 1 ร็อกอะฮฺในละหมาด แต่บางครั้งก็อาจจะไม่ทำให้เป็นโมฆะหรือถูกตีกลับทั้งหมด เช่น ผู้ที่อาบน้ำละหมาดอวัยวะละ 4 ครั้ง หรือถือศีลอดทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน
และบางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสิ่งถูกสั่งใช้ในอิบาดะฮฺด้วยกับสิ่งที่ถูกห้าม เช่น ผู้ที่ปกปิดเอาเราะฮฺในละหมาดด้วยเสื้อผ้าที่ต้องห้าม หรืออาบน้ำละหมาด (วุฎูอ์) ด้วยน้ำที่ขโมยมา หรือละหมาดในสถานที่ที่ยึดมา กรณีนี้บรรดานักวิชาการมีความเห็นต่างกันว่า การงานของเขาถูกตีกลับทั้งหมด (ตั้งแต่รากฐาน) หรือไม่ถูกตีกลับ และจะถือว่าได้พ้นจากภาระหน้าที่ที่จำเป็นแล้วหรือไม่? ซึ่งนักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่เห็นว่า มันไม่ได้ถูกตีกลับทั้งหมด