หะดีษเลขที่ 10
สาเหตุที่ดุอาอ์ไม่ถูกตอบรับ
عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُوْلُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ { إِنَّ اللَّهَ طَيِّبٌ لَا يَقْبَلُ إِلَّا طَيِّبًا، وَإِنَّ اللَّهَ تَعَالَى أَمَرَ المُؤْمِنِيْنَ بِمَا أَمَرَ بِهِ المُرْسَلِيْنَ، فَقَالَ { يَاأَيُّهَا الرُّسُلُ كُلُوا مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَاعْمَلُوا صَالِحًا } [المؤمنون: ٥١]، وَقَالَ تَعَالَى { يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ } [البقرة: ١٧٢] ثُمَّ ذَكَرَ الرَّجُلَ يُطِيْلُ السَّفَرَ أَشْْعَثَ أغْبَرَ، يَمُدُّ يَدَيْهِ إِلَى السَّمَاءِ يَا رَبِّ يَا رَبِّ، وَمَطْعَمُهُ حَرَامٌ، وَمَشْْرَبُهُ حَرَامٌ، وَمَلْبَسُهُ حَرَامٌ، َوغُذِيَ بِالحَرَامٌ، فَأَنَّى يُسْتَجَابُ لِذَلِكَ؟ }
رواهُ مُسْلِمٌ
จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นดี พระองค์ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ดี และแท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสั่งใช้บรรดาผู้ศรัทธาในสิ่งเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงสั่งใช้บรรดาเราะสูล พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ‘โอ้เราะสูลทั้งหลาย จงบริโภคจากสิ่งที่ดีและจงกระทำความดีเถิด’ (อัลมุอ์มินูน 23 : 51) และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า ‘โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงบริโภคจากสิ่งที่ดี ที่เราได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าเถิด’ (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 176) หลังจากนั้นท่านเราะสูลก็ได้เล่าถึงชายคนหนึ่งที่เดินทางไกล จนผมเผ้ายุ่งเหยิง คละเคล้าไปด้วยฝุ่นตลบ เขายื่นมือทั้งสองสู่ท้องฟ้า (พร้อมขอดุอาอ์ว่า) “โอ้พระผู้อภิบาล! โอ้พระผู้อภิบาล!” ทั้งที่อาหารที่เขาบริโภคนั้นหะรอม เครื่องดื่มที่เขาดื่มก็หะรอม และเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ก็หะรอม และเขาก็ยังชีพด้วยกับสิ่งหะรอม อย่างนี้แล้วมันจะถูกตอบรับได้อย่างไร?”
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1015)
คำอธิบาย
อธิบายหะดีษ
คำกล่าวของท่านเราะสูลที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นดี” คำว่า “ฏ็อยยิบ” ในที่นี้หมายถึง ผู้ทรงบริสุทธิ์
ความหมายคือ พระองค์ทรงบริสุทธิ์และห่างไกลจากข้อบกพร่องและข้อตำหนิทั้งปวง ดังที่ปรากฏในดำรัสของพระองค์ว่า
﴾ وَالطَّيِّبَاتُ لِلطَّيِّبِينَ وَالطَّيِّبُونَ لِلطَّيِّبَاتِ أُولَٰئِكَ مُبَرَّءُونَ مِمَّا يَقُولُونَ ﴿
และบรรดาสตรีที่ดีสำหรับบรรดาชายที่ดี และบรรดาชายที่ดีสำหรับบรรดาสตรีที่ดี ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่บริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขา (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) กล่าวหา (อันนูร 24 : 26)
หมายถึง บรรดาผู้ที่บริสุทธิ์จากความสกปรกของการผิดประเวณีและสิ่งสกปรกทั้งหลาย
และคำกล่าวของท่านที่ว่า “พระองค์ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ดี” หมายถึง พระองค์จะไม่ทรงรับการบริจาคทานใด ๆ นอกจากที่ดีและที่หะลาลเท่านั้น
และบางคนผู้กล่าวว่า : ความหมายของคำกล่าว “พระองค์ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ดี” นั้นมีความหมายที่กว้างกว่านั้น กล่าวคือ พระองค์จะไม่ทรงรับการงานใด ๆ นอกจากการงานที่ดีและบริสุทธิ์จากสิ่งที่ทำให้เสียหาย เช่น การโอ้อวดและความหยิ่งยโส และพระองค์จะไม่ทรงรับจากทรัพย์สินใด ๆ นอกจากที่ดีและหะลาล เพราะคำว่า “ฏ็อยยิบ” (ดี) นั้น ใช้อธิบายได้ทั้งการงาน คำพูด และความเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้แบ่งออกได้เป็นสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลว
การงานจะไม่ถูกตอบรับและไม่บริสุทธิ์นอกจากด้วยการบริโภคสิ่งที่หะลาล
หนึ่งในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำให้การงานของผู้ศรัทธาดีงามคือ การบริโภคอาหารที่ดี และเป็นสิ่งที่หะลาล ด้วยสิ่งนี้การงานของเขาจึงจะบริสุทธิ์
หะดีษบทนี้ชี้ให้เห็นว่า การงานจะไม่ถูกตอบรับและไม่บริสุทธิ์นอกจากด้วยการบริโภคสิ่งที่หะลาล และแท้จริงการบริโภคสิ่งที่หะรอมนั้นทำให้การงานเสีหายยและขัดขวางการตอบรับ (จากอัลลอฮฺ) เพราะหลังจากที่ท่านนบีได้กล่าวยืนยันว่า “พระองค์ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ดี” ท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงสั่งใช้บรรดาผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงสั่งใช้บรรดาเราะสูล โดยพระองค์ตรัสว่า
﴾ يَاأَيُّهَا الرُّسُلُ كُلُوا مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَاعْمَلُوا صَالِحًا ﴿
โอ้เราะสูลทั้งหลาย จงบริโภคจากสิ่งที่ดีและจงกระทำความดีเถิด (อัลมุอ์มินูน 23 : 51)
และพระองค์ได้ตรัสอีกว่า
﴾ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ ﴿
โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงบริโภคจากสิ่งที่ดีที่เราได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้าเถิด(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 176)”
ความหมายของประโยคนี้คือ บรรดาเราะสูลและประชาชาติของพวกท่านถูกสั่งใช้ให้บริโภคจากสิ่งที่ดีซึ่งเป็นสิ่งที่หะลาล และให้ทำการงานที่ดี ตราบใดที่การบริโภคนั้นเป็นสิ่งที่หะลาล การงานก็จะดีและถูกตอบรับ แต่เมื่อบริโภคสิ่งที่ไม่หะลาล แล้วการงานจะถูกตอบรับได้อย่างไร?
และสิ่งที่ท่านนบีได้กล่าวถึงหลังจากนั้นเกี่ยวกับการขอดุอาอ์ และการที่มันจะถูกตอบรับพร้อมกับสิ่งที่หะรอมได้อย่างไรนั้น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความห่างไกลของการตอบรับการงานเมื่อมีการบริโภคสิ่งที่หะรอมไปด้วย
ซึ่งการตอบรับนั้นอาจหมายถึงความพึงพอใจในการงาน การสรรเสริญต่อผู้ที่กระทำ และการยกย่องเขาในหมู่มะลาอิกะฮฺและภาคภูมิใจในตัวเขา และอาจหมายถึงการได้รับผลบุญและรางวัลจากการงานนั้น และอาจจะหมายถึงการรอดพ้นจากภาระหน้าที่
หากความหมายที่ต้องการในที่นี้คือการตอบรับในความหมายแรกหรือความหมายที่สอง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นจากภาระหน้าที่ ดังที่มีรายงานว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงรับการละหมาดของสตรีที่สามีของเธอโกรธ รวมถึงผู้ที่ไปหาหมอดูและผู้ที่ดื่มสุราเป็นเวลา 40 วัน
และความหมายที่ต้องการ (ซึ่งอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง) คือการปฏิเสธการตอบรับในความหมายแรกหรือความหมายที่สอง (คือ ผู้ที่บริโภคสิ่งหะรอมนั้นจะไม่ได้รับความพึงพอใจจากอัลลอฮฺและผลบุญการตอบแทน) และนี่คือความหมายที่ต้องการ (และอัลลอฮฺทรงรู้ดีที่สุด) จากดำรัสของพระองค์ที่ว่า
﴾ إِنَّمَا يَتَقَبَّلُ اللَّهُ مِنَ الْمُتَّقِينَ ﴿
แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับเพียงจากบรรดาผู้ย่าเกรงเท่านั้น (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 27) [1]
ด้วยเหตุนี้ อายะฮฺนี้จึงทำให้ชาวสะลัฟเกิดความหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อตัวของพวกเขาเอง โดยที่พวกเขากลัวว่าจะไม่ได้อยู่ในหมู่ผู้ยำเกรง (มุตตะกีน) ที่การงานของพวกเขาถูกตอบรับ
และอิมามอะหฺมัดถูเคยกถามถึงความหมายของคำว่า “อัลมุตตะกีน” (บรรดาผู้ยำเกรง) ในอายะฮฺนี้ ท่านตอบว่า “คือผู้ที่ยำเกรง (ระมัดระวัง) ต่อสิ่งต่าง ๆ จึงไม่ถลำตกลงไปในสิ่งที่ไม่หะลาลสำหรับเขา”
และวุฮัยบ บินอัลวัรดฺ ได้กล่าวว่า “ต่อให้ท่านยืนตรงเหมือนเสาต้นนี้ ก็จะไม่มีประโยชน์ใด ๆ แก่ท่าน จนกว่าท่านจะพิจารณาว่าสิ่งที่เข้าสู่ท้องของท่านนั้นเป็นสิ่งที่หะลาลหรือหะรอม”
และการบริจาคด้วยทรัพย์สินที่หะรอมก็จะไม่ถูกตอบรับ ดังที่มีรายงานจากท่านอิบนุอุมัรฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “อัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับการละหมาดที่ไม่มีน้ำละหมาด และไม่ทรงตอบรับการบริจาคจากทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการคดโกง” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 224)
และรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ไม่มีใครที่บริจาคทานจากทรัพย์สินที่ดี (ซึ่งอัลลอฮฺไม่ทรงตอบรับนอกจากสิ่งที่ดี) เว้นแต่พระผู้ทรงกรุณาจะทรงรับมันด้วยพระหัตถ์ขวาของพระองค์” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 7430 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1014) และท่านได้กล่าวอัลหะดีษต่อไป
สาเหตุที่ดุอาอ์ถูกตอบรับ
คำกล่าวที่ว่า “หลังจากนั้นท่านเราะสูลก็ได้เล่าถึงชายคนหนึ่งที่เดินทางไกล จนผมเผ้ายุ่งเหยิง คละเคล้าไปด้วยฝุ่นตลบ เขายื่นมือทั้งสองสู่ท้องฟ้า (พร้อมขอดุอาอ์ว่า) ‘โอ้พระผู้อภิบาล! โอ้พระผู้อภิบาล!’ ทั้งที่อาหารที่เขาบริโภคนั้นหะรอม เครื่องดื่มที่เขาดื่มก็หะรอม และเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ก็หะรอม และเขาก็ยังชีพด้วยกับสิ่งหะรอม อย่างนี้แล้วมันจะถูกตอบรับได้อย่างไร?” คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นถึงมารยาทในการขอดุอาอ์ สาเหตุที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ และสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับดุอาอ์ โดยได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับไว้ 4 ประการ
ประการที่ 1 : การเดินทางไกล แม้แต่การเดินทางเพียงอย่างเดียวก็เป็นสาเหตุให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ ดังที่ปรากฏในหะดีษของท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ดุอาอ์ 3 ประเภทที่จะถูกตอบรัโดยไม่มีข้อสงสัย (ได้แก่) ดุอาอ์ของผู้ถูกอธรรม ดุอาอ์ของผู้เดินทาง และดุอาอ์ของพ่อแม่ที่ขอให้แก่ลูก” (บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1531, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 3862, และอัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 1905)
และเมื่อการเดินทางยาวนาน การตอบรับดุอาอ์ก็ยิ่งใกล้ เพราะมันคือสถานการณ์ที่ทำให้จิตใจอ่อนแอลง เนื่องจากความห่างไกลบ้านเกิดเป็นเวลานานและต้องแบกรับความยากลำบาก และความรู้สึกอ่อนแอนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ดุอาอ์ถูกการตอบรับ
ประการที่ 2 : สภาพที่ไม่เป็นเรียบร้อยทั้งการแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก คือผมเผ้ายุ่งเหยิงและเนื้อตัวคละเคล้าไปด้วยฝุ่นตลบ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ ดังที่ปรากฏในหะดีษที่มีชื่อเสียงจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “กี่มากน้อยแล้วคนที่ผมเผ้ายุ่งเหยิง คละเคล้าด้วยฝุ่นตลบ สวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ถูกผลักไสไล่ส่ง หากเขาสาบานต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะให้เป็นจริงตามคำสาบานของเขา” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2622 แต่ไม่มีคำว่า “สวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง”) และเมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ออกไปละหมาดขอฝน ท่านก็ออกไปในสภาพที่เปลี่ยนไปจากปกติ ถ่อมตน และนอบน้อม (บันทึกโดยอะหมัด 1/230, อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1165, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 1266, อัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 558 และอันนะสาอีย์ 3/156 และ 163)
ประการที่ 3 : การยกมือทั้งสองขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในมารยาทของการขอดุอาอ์ที่หวังได้ว่าดุอาอ์จะถูกตอบรับ ในหะดีษของท่านสัลมาน รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้นทรงชีวิน ทรงใจบุญยิ่ง พระองค์ทรงละอายเมื่อบ่าวยกมือทั้งสองขึ้นวิงวอนขอต่อพระองค์ แล้วพระองค์จะปล่อยให้มือทั้งสองกลับไปโดยว่างเปล่าและผิดหวัง” (บันทึกโดยอะห์มัด 5/438) อบูดาวูด หะดีษเลขที่ 1488, อัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 3556 และอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 3865)
และท่านนบีเคยยกมือทั้งสองขึ้นในการละหมาดขอฝนจนเห็นรักแร้ทั้งสองข้างของท่าน (บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1031 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 895) และท่านยกมือทั้งสองขึ้นในวันสงครามบัดรฺเพื่อขอความช่วยเหลือให้สามารถเอาชนะพวกมุชริกีน จนกระทั่งผ้าคลุมของท่านหล่นลงมาจากบ่าทั้งสองข้าง (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1763)
ประการที่ 4 : การวิงวอนต่ออัลลอฮฺด้วยการกล่าวคำว่า “ร็อบ” (พระผู้อภิบาล) ซ้ำ ๆมันคือหนึ่งในวิธีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการขอให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
และใครที่พิจารณาดุอาอ์ต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานจะพบว่า ส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วยพระนาม “ร็อบ” เช่นดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴾ رَبَّنَا ءَاتِنَا فِي الدُّنْيَا حَسَنَةً وَفِي الْآخِرَةِ حَسَنَةً وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ ﴿
โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดประทานความดีงามแก่เราทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า และโปรดคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากการลงโทษแห่งไฟนรก” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 201)
สิ่งที่ขัดขวางการตอบรับดุอาอ์
สำหรับสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับดุอาอ์นั้น ท่านนบีได้ชี้ให้ทราบว่าคือการหมกมุ่นกับสิ่งที่หะรอม ทั้งในเรื่องการกิน การดื่ม การแต่งกาย และการเลี้ยงชีพ
คำกล่าวของท่านที่ว่า “อย่างนี้แล้วมันจะถูกตอบรับได้อย่างไร?” มีความหมายว่า ดุอาอ์ของเขาจะถูกตอบรับได้อย่างไร? เป็นคำถามเชิงประหลาดใจและแสดงถึงความห่างไกลจากการตอบรับ แต่ไม่ได้หมายความอย่างชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถูกตอบรับหรือถูกขัดขวางโดยสิ้นเชิง
สามารถสรุปจากประโยคนี้ได้ว่า การหมกมุ่นในสิ่งหะรอมและการเลี้ยงชีพด้วยสิ่งหะรอมนั้นคือหนึ่งในสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับดุอาอ์ แต่ก็อาจจะมีสิ่งอื่นที่ขัดขวางตัวขัดขวางนี้ไม่ให้ทำงานได้เช่นกัน
การกระทำสิ่งต้องห้ามอาจเป็นสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับ เช่นเดียวกับการละทิ้งสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) ดังที่ปรากฏในหะดีษว่า การละทิ้งการสั่งใช้ในสิ่งที่ดีงามและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับดุอาอ์ของคนดี[2] และการทำความดีจะเป็นสิ่งที่ทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อบรรดาผู้ที่เข้าไปในถ้ำ แล้วหินก้อนใหญ่หล่นมาปิดปากถ้ำ พวกเขาได้ขอต่ออัลลอฮฺด้วยการกล่าวถึงการงานที่ดีที่พวกเขาเคยทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ ดุอาอ์ของพวกเขาก็ถูกตอบรับ
มีรายงานจากท่านอุมัร กล่าวว่า “ด้วยการสำรวมตนจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม อัลลอฮฺจะทรงตอบรับดุอาอ์และการตัสบีหฺ”
และมีรายงานจากท่านอบูซัรรฺ อัลฆิฟารีย์ กล่าวว่า “การขอดุอาอ์พร้อมกับทำความดีนั้นเพียงพอแล้ว เช่นเดียวกับที่อาหารนั้นเพียงพอด้วยกับเกลือ”
และชาวสะลัฟบางท่านได้กล่าวว่า “อย่าเร่งรัดการตอบรับ (ดุอาอ์) ทั้ง ๆ ที่ท่านปิดกั้นหนทางของมันด้วยการทำบาป”
เราวิงวอนต่อพระเจ้ายามทุกข์ยาก
แล้วเราก็ลืมพระองค์เมื่อทุกข์คลาย
แล้วจะหวังการตอบรับดุอาอ์ได้อย่างไร
ในเมื่อเราปิดทางมันด้วยบาปเอง
——————
[1] หมายความว่า ผู้ที่บริโภคหรือกระทำสิ่งที่หะรอมนั้น แม้อัลลอฮฺจะไม่ตอบรับดุอาอ์หรือการงานของเขา ในความหมายที่ว่า ไม่พอพระทัยและไม่ตอบแทนผลบุญแก่เขา แต่เขาก็ยังจำเป็นต้องกระทำการงานที่เป็นข้อบังคับ (วาญิบหรือฟัรฎุ) ทั้งหลายอยู่ดี – ผู้แปล
[2] หมายถึง หะดีษของท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “พวกท่านจงสั่งใช้ในสิ่งที่ดีงามและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่วร้าย มิฉะนั้นแล้วอัลลอฮฺจะให้คนชั่วในหมู่พวกท่านมีอำนาจเหนือพวกท่าน แล้วคนดีในหมู่พวกท่านจะขอดุอาอ์ แต่จะไม่ถูกตอบรับ” (บันทึกโดยอัลบัซซาร ในหนังสือมุสนัดของท่าน หะดีษเลขที่ 188)