หะดีษเลขที่ 12
ละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเอง
عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : عَنِ النَّبِيَِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ { مِنْ حُسْنِ إِسْلاَمِ المَرْءِ تَرْكُهُ مَا لَا يَعْنِيْهِ }
حَدِيْثٌ حَسَنٌ، رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ وَغَيْرُهُ
จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งจากความดีงามของอิสลามในตัวคน ๆ หนึ่ง คือการที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับตัวเขา”
หะดีษหะสัน บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ (หะดีษเลขที่ 2317) และคนอื่น ๆ
คำอธิบาย
หะดีษนี้คือรากฐานที่ยิ่งใหญ่ในรากฐานเรื่องมารยาท
มุฮัมหมัด บินอบูซัยดฺ อิมามของมัซฮับมาลิกีย์ในยุคของเขาเอง ได้กล่าวว่า : มารยาทที่ดีงามทั้งหมดและหลักการของมันแตกกิ่งออกมาจากหะดีษ 4 บท ได้แก่ คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า “ผู้ใดศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสุดท้าย เขาก็จงพูดในสิ่งที่ดีหรือนิ่งเสียเสีย” และคำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความดีงามของอิสลามของบุคคลหนึ่ง คือการที่เขาละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับเขา” และคำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แก่ผู้ที่ท่านให้คำแนะนำโดยย่อว่า “อย่าโมโห” และคำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า “ผู้ศรัทธานั้นย่อมรักพี่น้องของเขาเช่นเดียวกับที่เขารักตัวเขาเอง”
อธิบายหะดีษ
ความหมายของหะดีษบทนี้คือ ส่วนหนึ่งจากความดีงามของอิสลามของคน ๆ หนึ่งนั้น คือการละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับเขาทั้งคำพูดและการกระทำ และให้จำกัดอยู่แต่สิ่งที่มีประโยชน์ (หรือเกี่ยวข้อง) กับเขาเท่านั้น ทั้งคำพูดและการกระทำ
ความหมายของคำว่า “ยะอฺนี” (يَعْنِي) คือ การเอาความเอาใจใส่ของเขาไปสัมพันธ์กับสิ่งนั้น และมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายและความต้องการของเขา โดยคำว่า “อินายะฮฺ” (العِنَايَةُ) หมายถึง ความเอาใจใส่อย่างมากต่อสิ่งหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อเขาให้ความสำคัญและต้องการมัน
และไม่ได้หมายความว่า เขาจะละทิ้งสิ่งที่เขาไม่สนใจและไม่ต้องการตามอารมณ์และความต้องการของจิตใจ แต่เป็นไปตามบทบัญญัติและอิสลาม ด้วยเหตุนี้ท่านนบีจึงถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความดีงามของอิสลาม เมื่ออิสลามของบุคคลหนึ่งดีงาม เขาจะละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับเขาในศาสนาอิสลาม ทั้งที่เป็นคำพูดและการกระทำ เพราะอิสลามนั้นกำหนดให้ปฏิบัติสิ่งที่วาญิบ (จำเป็น) ทั้งหลาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในการอธิบายหะดีษญิบรีล อะลัยฮิสสะลาม
และแท้จริงอิสลามที่สมบูรณ์และน่ายกย่องนั้น รวมถึงการละทิ้งสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “มุสลิม (ที่แท้จริง) คือผู้ที่มุสลิมคนอื่นปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 10 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 40)
และเมื่ออิสลามดีงาม มันย่อมเรียกร้องให้ละทิ้งทุกสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือเกี่ยวข้อง) ทั้งสิ่งต้องห้าม (หะรอม) สิ่งคลุมเครือ (ชุบฮาต) สิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และส่วนเกินของสิ่งอนุมัติ (มุบาหฺ) ที่ไม่จำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่มีประโยชน์ (หรือเกี่ยวข้อง) กับมุสลิมเมื่ออิสลามของเขาสมบูรณ์ และเขาได้บรรลุถึงระดับของอิหฺสานแล้ว คือการที่เขาเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺประหนึ่งว่าเขาเห็นพระองค์ และแม้ว่าเขาจะไม่เห็นพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺก็ทรงเห็นเขา
ดังนั้น ใครที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยการตระหนักถึงความใกล้ชิดและการเฝ้ามองของพระองค์ด้วยหัวใจของเขา หรือด้วยการตระหนักถึงความใกล้ชิดของอัลลอฮฺต่อเขาและการที่พระองค์ทรงดูแลเขา แท้จริงอิสลามของเขาย่อมดีงาม และจำเป็นสำหรับเขาที่จะต้องละทิ้งทุกสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือเกี่ยวข้อง) กับเขาในศาสนาอิสลาม และง่วนอยู่กับสิ่งที่มีประโยชน์ (หรือเกี่ยวข้อง) กับเขาเท่านั้น
เพราะสถานะทั้งสองนี้จะก่อให้เกิดความละอายใจต่ออัลลอฮฺและการละทิ้งทุกสิ่งที่น่าละอาย
ผู้รู้บางท่านได้กล่าวว่า “จงละอายใจต่ออัลลอฮฺตามระดับความใกล้ชิดของพระองค์ต่อท่าน และจงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺตามระดับความสามารถ (เดชานุภาพ) ของพระองค์เหนือตัวท่าน”
และผู้รู้แจ้งบางท่านได้กล่าวว่า “เมื่อท่านพูด ท่านจงระลึกไว้เสมอว่าอัลลอฮฺทรงได้ยินท่าน และเมื่อท่านนิ่งเงียบ ท่านจงระลึกเสมอว่าพระองค์ทรงมองดูท่าน”
และอัลหะสันได้กล่าวว่า “หนึ่งในสัญญาณว่าอัลลอฮฺทรงผินหลังให้กับบ่าว คือการที่พระองค์ทรงให้เขายุ่งอยู่กับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับตัวเขา”
และสะฮลฺ บินอับดุลลอฮฺ อัตตุสตะรีย์ ได้กล่าวว่า “ใครที่พูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับเขา เขาจะถูกห้ามจากความสัจจริง”
และมะอฺรูฟได้กล่าวว่า “การที่บ่าวพูดในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (หรือไม่เกี่ยวข้อง) กับเขานั้น คือการถูกทอดทิ้งจากอัลลอฮฺ”
ความประเสริฐของการละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (ไม่เกี่ยวข้อง)
หะดีษนี้ชี้ให้เห็นว่า การละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (ไม่เกี่ยวข้อง) กับบุคคลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความดีงามของอิสลามของเขา เมื่อเขาละทิ้งสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ (ไม่เกี่ยวข้อง) กับเขา และกระทำในสิ่งที่มีประโยชน์ (เกี่ยวข้อง) กับเขาทั้งหมด ความดีงามของอิสลามของเขาก็จะสมบูรณ์
และมีหะดีษหลายบทที่กล่าวถึงความประเสริฐของผู้ที่อิสลามของเขาดีงามว่า ความดีงามของเขาจะเพิ่มทวีคูณ และความชั่วร้ายของเขาจะถูกลบล้าง
และเป็นที่ชัดเจนว่า การทวีคูณที่มากนั้นขึ้นอยู่กับระดับความดีงามของอิสลาม มีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านทำให้อิสลามของเขาดีงาม ทุกความดีงามที่เขากระทำจะถูกบันทึกเป็น 10 เท่า จนถึง 700 เท่า และทุกความชั่วร้ายที่เขากระทำจะถูกบันทึกเพียง 1 เท่า กระทั่งเขาพบอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 42 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 129)
การทวีคูณความดีเป็น 10 เท่านั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ส่วนการเพิ่มเติมจากนั้นขึ้นอยู่กับความดีงามของอิสลาม ความบริสุทธิ์ใจ และความจำเป็นต่อการงานนั้นและความประเสริฐของมัน เช่น การบริจาคในการญิฮาด ในการประกอบพิธีหัจญ์ ในการให้แก่ญาติพี่น้อง เด็กกำพร้า คนยากจน และในยามที่มีความจำเป็นต้องบริจาค
และมีรายงานจากท่านอบูสะอีด จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อบ่าวเข้ารับอิสลามและทำให้อิสลามของเขาดีงาม อัลลอฮฺจะทรงบันทึกทุกความดีงามที่เขาได้กระทำไว้ก่อนหน้า และจะทรงลบล้างทุกความชั่วร้ายที่เขาได้กระทำไว้ก่อนหน้า จากนั้นจึงเป็นการตอบแทน ความดีหนึ่งเท่ากับ 10 เท่าจนถึง 700 เท่า และความชั่วหนึ่งเท่าเดิม เว้นแต่อัลลอฮฺจะทรงอภัยโทษให้” (บันทึกโดยอันนะสาอีย์ หะดีษเลขที่ 4998 และอัลบุคอรีย์ได้กล่าวถึงโดยย่อ หะดีษเลขที่ 41)
และความหมายของความดีงามและความชั่วร้ายที่เขาได้กระทำไว้นั้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการเข้ารับอิสลาม และนี่ชี้ให้เห็นว่าเขาจะได้รับผลบุญจากความดีงามที่เขากระทำในขณะที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาเมื่อเขาเข้ารับอิสลาม และความชั่วร้ายของเขาจะถูกลบล้างเมื่อเขาเข้ารับอิสลาม แต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องทำให้อิสลามของเขาดีงาม และระมัดระวังตัวจากความชั่วเหล่านั้นในสภาพที่เป็นมุสลิม
และมีหลักฐานในเรื่องนี้จากหะดีษของท่านอิบนุมัสอูดกล่าวว่า : พวกเราได้ถามว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺครับ พวกเราจะถูกลงโทษจากสิ่งที่พวกเราได้กระทำในสมัยญาฮิลียะฮฺด้วยหรือครับ?” ท่านตอบว่า “ส่วนผู้ที่ทำให้อิสลามของเขาดีงามนั้นจะไม่ถูกลงโทษจากมัน และผู้ที่ทำชั่วจะถูกลงโทษจากการกระทำของเขา ทั้งในสมัยญาฮิลียะฮฺและอิสลาม” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 6921 และมุสลิม 120)
การเปลี่ยนความชั่วร้ายให้เป็นความดีงาม
มีผู้กล่าวว่า แท้จริงความชั่วร้ายของเขาในขณะที่ตั้งภาคีจะถูกเปลี่ยนเป็นความดีงาม โดยยึดหลักฐานจากพระดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า
﴿ وَالَّذِينَ لَا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَٰهًا آخَرَ وَلَا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالْحَقِّ وَلَا يَزْنُونَ ۚ وَمَن يَفْعَلْ ذَٰلِكَ يَلْقَ أَثَامًا * يُضَاعَفْ لَهُ الْعَذَابُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَيَخْلُدْ فِيهِ مُهَانًا * إِلَّا مَن تَابَ وَآمَنَ وَعَمِلَ عَمَلًا صَالِحًا فَأُولَٰئِكَ يُبَدِّلُ اللَّهُ سَيِّئَاتِهِمْ حَسَنَاتٍ ﴾
“และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนพระเจ้าอื่นคู่กับอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่ฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยความชอบธรรม และพวกเขาไม่ผิดประเวณี และผู้ใดกระทำเช่นนั้น เขาจะได้พบกับความผิดบาป * การลงโทษจะถูกทวีคูณแก่เขาในวันกิยามะฮฺ และเขาจะอยู่ในนั้นด้วยความอัปยศ * เว้นแต่ผู้ที่สำนึกผิด ศรัทธา และกระทำความดีงาม ชนเหล่านี้อัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนความชั่วร้ายของพวกเขาให้เป็นความดีงาม” (อัลฟุรกอน 25 : 68-70)
และมีหะดีษที่ชัดเจนว่า เมื่อผู้ปฏิเสธศรัทธาเข้ารับอิสลามและทำให้อิสลามของเขาดีงาม ความชั่วร้ายของเขาในช่วงที่ตั้งภาคีจะถูกเปลี่ยนเป็นความดีงาม
รายงานจากท่านชะฏ็อบ[1] ว่า : ท่านได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วกล่าวว่า “ท่านคิดเห็นอย่างไรกับชายที่ทำความบาปทั้งหมด และไม่ละเว้นความต้องการทั้งเล็กและใหญ่ เขาจะมีโอกาสกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮฺ) อีกไหมครับ?” ท่านนบีถามว่า “ท่านเข้ารับอิสลามแล้วหรือ?” ท่านชะฏ็อบตอบว่า “ใช่ครับ” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ดังนั้น จงทำความดีและละทิ้งความชั่วเถิด แล้วอัลลอฮฺจะทรงเปลี่ยนมันทั้งหมดให้เป็นความดีงามสำหรับท่าน” ท่านชะฏ็อบถามว่า “แม้แต่การทรยศและการละเมิดของผมหรือครับ?” ท่านนบีตอบว่า “ใช่แล้ว” ท่านชะฏ็อบกล่าวว่า : แล้วท่านก็กล่าวตักบีรไม่หยุดจนกระทั่งลับตาไป (บันทึกโดยอัลบัซซาร ใน “ซะวาอิด” ของเขา ดังที่มีใน “กัชฟุล อัสตาร” หะดีษเลขที่ 3244) และอัฏเฏาะบะรอนีย์ ใน “อัลกะบีร” หะดีษเลขที่ 7075)
——————-
เชิงอรรถ :
[1] คือ ชะฏ็อบ อัลมัมดูด อบูเฏาะวีล อัลกินดีย์ มีผู้กล่าวว่า ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺ ดังที่มีระบุในหนังสือ “อัลอิศอบะฮฺ” และ “อัลอิสตีอาบ”