หะดีษเลขที่ 13
รักพี่น้องเช่นเดียวกับที่รักตัวเอง
عَنْ أَنَسِ بْنِ مَالِكٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ { لَا يُؤمِنُ أحَدُكُمْ حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيْهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ }
رَوَاهُ البُخَارِيُّ وَمُسْلِمٌ
จากท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะยังไม่ศรัทธา (โดยสมบูรณ์) จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาเช่นเดียวกับที่เขารักตัวเขาเอง”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 13 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 45)
คำอธิบาย
อธิบายหะดีษ
เป้าหมายของการปฏิเสธความศรัทธาในที่นี้คือ การปฏิเสธการบรรลุถึงแก่นแท้และจุดสุดยอดของมัน ดังที่ปรากฏในรายงานของอิมามอะหฺมัดว่า “บ่าวคนหนึ่งจะไม่บรรลุถึงแก่นแท้ของความศรัทธา จนกว่าเขาจะรักให้ความดีงามประสบแก่ผู้คนเช่นเดียวกับที่เขารักแก่ตัวเขาเอง” (บันทึกโดยอิบนุหิบบาน หะดีษเลขที่ 235)
และบ่อยครั้งที่ความศรัทธาถูกปฏิเสธเนื่องจากการขาดองค์ประกอบและข้อบังคับบางประการของมัน เช่น คำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า “ผู้ทำซินา (ผิดประเวณี) จะไม่ทำซินาขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา และผู้ขโมยจะไม่ขโมยขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา และผู้ดื่มเหล้าจะไม่ดื่มขณะที่เขาเป็นผู้ศรัทธา” และคำกล่าวของท่านที่ว่า “ไม่มีความศรัทธา (ที่สมบูรณ์) สำหรับผู้ที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ปลอดภัยจากความชั่วร้ายของเขา” (บันทึกโดยอิบนุหิบบาน หะดีษเลขที่ 235 เช่นกัน)
บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับผู้กระทำบาปใหญ่ว่า เขาจะถูกเรียกว่า “ผู้ศรัทธาที่ศรัทธาบกพร่อง” หรือไม่? หรือจะไม่ถูกเรียกว่า “ผู้ศรัทธา” เลย? และจะกล่าวเพียงว่าเขาเป็น “มุสลิม” ไม่ใช่ “ผู้ศรัทธา” ไหม? ซึ่งมีความเห็น 2 ทัศนะ และทั้งสองมีรายงานมาจากอิมามอะหฺมัด
ท่านอิบนุอับบาสได้กล่าวว่า “ผู้ทำซินาจะถูกถอดถอนรัศมีแห่งความศรัทธาออกจากตัวเขา”
และท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺได้กล่าวว่า “ความศรัทธาจะถูกถอดถอนออกจากเขา แล้วมันจะอยู่เหนือเขาเหมือนร่ม เมื่อเขาสำนึกผิด มันก็จะกลับคืนสู่ตัวเขา”
ส่วนผู้ที่กระทำบาปเล็ก ชื่อแห่งความศรัทธาจะไม่หมดไปจากเขาโดยสิ้นเชิง แต่เขาคือผู้ศรัทธาที่มีศรัทธาบกพร่อง ความศรัทธาของเขาจะลดลงตามสัดส่วนของบาปเล็กนั้นที่เขาได้กระทำไป
จุดประสงค์คือ หนึ่งในคุณลักษณะที่จำเป็นของความศรัทธาคือ การที่คน ๆ หนึ่งรักที่จะให้ประสบแก่พี่น้องผู้ศรัทธาของเขาในสิ่งที่เขารักสำหรับตัวของเขาเอง และเกลียดที่จะให้ประสบกับพี่น้องของเขาในสิ่งที่เขาเกลียดสำหรับตัวของเขาเอง หากสิ่งนี้หายไปจากตัวเขา ความศรัทธาของเขาก็บกพร่องลงเพราะเหตุนั้น
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้ผูกการเข้าสวรรค์ไว้กับคุณลักษณะนี้ โดยมีรายงานจากท่านยะซีด บินอะสัด อัลก็อสรีย์ กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวกับฉันว่า “ท่านชอบสวนสวรรค์ไหม?” ฉันตอบว่า “ใช่ครับ” ท่านกล่าวว่า “ดังนั้น ท่านจงรักที่จะให้ประสบแก่พี่น้องของท่านในสิ่งที่ท่านรักสำหรับตัวของท่านเอง”(บันทึกโดยอะหมัด 4/70)
และมีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ บินอัมรู บินอัลอาศ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ใครที่ต้องการห่างไกลจากไฟนรกและเข้าสวนสวรรค์ ขอจงให้ความตายมาถึงเขาในขณะที่เขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ (โลกหน้า) และปฏิบัติต่อผู้คนในสิ่งที่เขาชอบให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตัวเขาเอง” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1844)
และหะดีษของท่านอนัสที่เรากำลังพูดถึงนี้บ่งชี้ว่า ผู้ศรัทธาจะมีความสุขในสิ่งที่ทำให้พี่น้องผู้ศรัทธาของเขามีความสุข และปรารถนาให้ความดีประสบแก่พี่น้องผู้ศรัทธาของเขาในสิ่งที่เขาปรารถนาแก่ตัวเขาเอง
และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความสมบูรณ์ของจิตใจที่ปราศจากความเคียดแค้น การหลอกลวง และความอิจฉา เพราะความอิจฉานั้นทำให้ผู้อิจฉาเกลียดที่จะเห็นผู้อื่นเหนือกว่าตนในความดีงาม หรือเท่าเทียมกับตนในเรื่องนี้ เพราะเขาชอบที่จะโดดเด่นเหนือผู้อื่นด้วยความประเสริฐทั้งหลายของตน และต้องการเป็นหนึ่งเดียวในสิ่งที่ตนมี แต่ความศรัทธาเรียกร้องสิ่งที่ตรงกันข้าม คือการที่บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมดมีส่วนร่วมในความดีงามที่อัลลอฮฺทรงประทานให้ โดยไม่ทำให้สิ่งใดของเขาพร่องลงแต่อย่างใด
ผู้ศรัทธาเพียรพยายามในการปรับปรุงแก้ไขพี่น้องของเขา
โดยสรุปแล้ว สมควรที่ผู้ศรัทธาจะรักให้ประสบแก่บรรดาผู้ศรัทธาในสิ่งที่เขารักแก่ตัวเขาเอง และรังเกียจที่จะให้ประสบกับพวกเขาในสิ่งที่เขารังเกียจสำหรับตัวเขาเอง และหากเขาเห็นข้อบกพร่องในศาสนาของพี่น้องมุสลิมของเขา เขาก็จะพยายามการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
และหากเขาเห็นความประเสริฐ (หรือความดีงาม) ในผู้อื่นที่เหนือกว่าตเองน เขาก็จะหวังให้สิ่งนั้เกิดขึ้นกับตัวเองด้วย หากความประเสริฐนั้นเป็นเรื่องศาสนาก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็เคยปรารถนาสถานภาพการเป็นชะฮีด (ผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ) แก่ตัวของท่านเอง (ดู อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 36 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1876)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ไม่มีการอิจฉา (ที่อนุญาต) นอกจากใน 2 กรณี (1) ชายที่อัลลอฮฺประทานทรัพย์สินให้ แล้วเขาใช้จ่ายมัน (ในหนทางของอัลลอฮฺ) ทั้งยามค่ำและยามเช้า และ (2) ชายที่อัลลอฮฺประทานอัลกุรอานให้ แล้วเขาอ่านมันทั้งยามค่ำและยามเช้า” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 73 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 816)
ส่วนพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴾ وَلَا تَتَمَنَّوْا مَا فَضَّلَ اللهُ بِهِ بَعْضَكُمْ عَلَى بَعْضٍ ﴿
และพวกเจ้าอย่าหวังในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้บางคนในหมู่พวกเจ้าเหนือกว่าอีกบางคน (อันนิสาอ์ 4 : 32)
(การหวัง) ดังกล่าวนั้นได้รับการอธิบายว่าหมายถึง ความอิจฉา คือการที่คนหนึ่งปรารถนาในสิ่งที่พี่น้องของเขาได้รับ ทั้งในเรื่องครอบครัวและทรัพย์สิน และต้องการให้สิ่งนั้นย้ายมาเป็นของตนเอง”
การแข่งขันที่น่าสรรเสริญ
และทั้งหมดนี้ สมควรแก่ผู้ศรัทธาที่จะเศร้าโศกต่อการพลาดโอกาสในความประเสริฐทั้งหลายทางศาสนา และในเรื่องนี้เขาถูกสั่งใช้ให้มองไปยังผู้ที่เหนือกว่าเขาในเรื่องศาสนาไป และให้แข่งขันกันในการแสวงหาสิ่งนั้นด้วยความพยายามและความสามารถของเขา ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า
﴾ وَفِي ذَلِكَ فَلْيَتَنَافَسِ الْمُتَنَافِسُونَ ﴿
และในสิ่งนั้นผู้แข่งขันทั้งหลายจงแข่งขันกันเถิด (อัลมุฏ็อฟฟิฟีน 83: 26)
และเขาไม่ควรรังเกียจที่จะเห็นผู้อื่นมีส่วนร่วมในเรื่องนั้น แต่ควรรักที่จะเห็นผู้คนทั้งหมดแข่งขันกัน และกระตุ้นพวกเขาในเรื่องดังกล่าว และนี่คือส่วนหนึ่งของความสมบูรณ์ในการให้คำแนะนำตักเตือน (นะศีหะฮฺ) แก่พี่น้อง
และพร้อมกันนี้ เมื่อมีใครล้ำหน้าเขาไปในความประเสริฐทางศาสนา เขาก็ควรพยายามที่จะตามให้ทัน และเศร้าโศกต่อความบกพร่องของตนเอง และความล้าช้าของตนในการไล่ตามบรรดาผู้เป็นแนวหน้า ไม่ใช่ด้วยการอิจฉาริษาต่อพวกเขาในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้จากความโปรดปรานของพระองค์ แต่เป็นการแข่งขันกับพวกเขา
และสมควรแก่ผู้ศรัทธาที่จะมองตัวเองว่ายังบกพร่องจากระดับชั้นที่สูงส่งอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับประโยชน์ที่มีคุณค่า 2 ประการ ได้แก่ (1) การพยายามแสวงหาความประเสริฐ (หรือความดีงาม) และการเพิ่มพูนมัน และ (2) การมองตัวเองด้วยสายตาแห่งความบกพร่องเสมอ