:: เบื้องหลังอิสมาอีลที่เยาว์วัย มีพ่อแม่ที่เข้มแข็งอย่างอิบรอฮีมและฮาญัร ::
นบี “อิบรอฮีม” ชื่อนี้ถูกกล่าวซ้ำถึง 69 ครั้งในอัลกุรอาน เรื่องราวของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้กับมนุษยชาติหลายพันล้านชีวิต ท่านคือเบื้องหลังของบุคคลที่พิเศษและยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันคือ นบี “อิสมาอีล” ลูกชายของท่านเอง
ขอเริ่มต้นด้วยคำถามที่สำคัญข้อหนึ่งคือ “ตอนที่นบีอิสมาอีลกับคุณแม่ถูกนำมาไว้ที่หุบเขาบักกะฮฺ (เมืองมักกะฮฺในปัจจุบัน) นั้น ท่านอายุเท่าไหร่?”
ในหนังสือ “อุมดะตุล กอรีย์” โดยบัดรุดดีน อัลอัยนีย์ ระบุไว้ว่า ตอนนั้นนบีอิสมาอีลอายุเพียง 2 ขวบเท่านั้น เป็นวัยที่ต้องการความรักความผูกพันจากทั้งพ่อและแม่ แต่เนื่องจากพ่อจำเป็นต้องเดินทางไปทำภารกิจสำคัญที่ปาเลสไตน์ นบีอิสมาอีลจึงต้องอยู่ตามลำพังกับคุณแม่ แต่ดูเถิด…นบีอิสมาอีลก็เติบโตจนกลายเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ซื่อตรง อุปนิสัยดี สุภาพอ่อนโยน และมีมารยาทที่สุด
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า
فَبَشَّرْنَاهُ بِغُلَامٍ حَلِيمٍ
ดังนั้น เราจึงแจ้งข่าวดีแก่เขา (อิบรอฮีม) ด้วยลูกคนหนึ่ง (คือ อิสมาอีล) ที่มีความอดทนสูง (อัศศ็อฟฟาต 37 : 101)
แล้วในอายะฮฺต่อมา อายะฮฺที่ 102 สูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต อัลลอฮฺก็ได้บอกเล่าถึงช่วงเวลาที่พิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่พระองค์ได้กล่าวไว้นั้นคือความจริง คือ “อิสมาอีลคือลูกชายที่มีความอดทนมากจริง ๆ” นบีอิบรอฮีมได้กล่าวกับอิสมาอีลว่า
يَا بُنَيَّ إِنِّي أَرَىٰ فِي الْمَنَامِ أَنِّي أَذْبَحُكَ فَانظُرْ مَاذَا تَرَىٰ
“ลูกรักของพ่อ! แท้จริงพ่อฝันเห็นว่าพ่อได้เชือดลูก ลองดูเถอะว่าลูกคิดเห็นอย่างไรบ้าง?” (อัศศ็อฟฟาต 37 : 102)
นบีอิสมาอีลตอบกลับไปอย่างไร? ท่านไม่พอใจ? รู้สึกเบลอ? วิ่งหนี? หรือมองว่าพ่อแม่ของท่านบ้าไปแล้ว? ไม่ใช่เลย เพราะท่านรู้ดีว่าฝันของคุณพ่อคือวะหฺยูจากอัลลอฮฺ คำตอบของนบีอิสมาอีลจึงกระชับสั้น แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ พร้อมน้อมรับและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ทันที นบีอิสมาอีลตอบว่า
يَا أَبَتِ افْعَلْ مَا تُؤْمَرُ سَتَجِدُنِي إِن شَاءَ اللَّهُ مِنَ الصَّابِرِينَ
“พ่อครับ! ทำตามที่พ่อถูกบัญชาเถิด หากอัลลอฮฺประสงค์ พ่อจะได้เห็นว่าผมคือหนึ่งในบรรดาผู้อดทน” (อัศศ็อฟฟาต 37 : 102)
นี่คือคำตอบที่มาจากบุคคลที่มีความเชื่อมั่นที่บริสุทธิ์และสมบูรณ์แบบเท่านั้น ความศรัทธาของท่านมั่นคง ไร้ข้อสงสัย และเราจะยิ่งตกใจและละอายใจไปพร้อมกัน เมื่อรู้ว่านบีอิสมาอีลในตอนนั้นอายุเพียง 13-16 ปีเท่านั้น ตามที่บรรดานักตัฟสีรได้กล่าวเอาไว้
แม้นบีอิสมาอีลจะอายุน้อย แต่ท่านมีวุฒิภาวะสูงกว่าคนที่มีอายุมากกว่าท่านเสียอีก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ต้องฉุกคิดว่า มีเหตุปัจจัยอะไรที่หล่อหลอมและสร้างนบีอิสมาอีลในช่วงวัยนี้ให้มีความคิดความอ่านในระดับนี้ได้? ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้
(1) ความเชื่อมั่นที่ใสบริสุทธ์ คือปัจจัยสำคัญที่กำหนดสภาพแวดล้อม
ลองพิจารณาดุอาอ์แรกของนบีอิบรอฮีมที่ท่านขอขณะนำภรรยาและลูกชายมาวางไว้ที่หุบเขามักกะฮฺ ท่านได้ขอดุอาอ์ว่า
رَّبَّنَا إِنِّي أَسْكَنتُ مِن ذُرِّيَّتِي بِوَادٍ غَيْرِ ذِي زَرْعٍ عِندَ بَيْتِكَ الْمُحَرَّمِ رَبَّنَا لِيُقِيمُوا الصَّلَاةَ
“โอ้พระผู้เป็นเจ้าของเรา แท้จริงข้าพระองค์ได้ให้ลูกหลานของข้าพระองค์พำนักอยู่ในที่ราบลุ่มนี้ ซึ่งไม่มีพืชผลใด ๆ อยู่ใกล้บ้านอันเป็นเขตหวงห้ามของพระองค์เลย โอ้พระผู้เป็นเจ้าของเรา (ทั้งนี้) เพื่อให้พวกเขาได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด…” (อิบรอฮีม 14 : 37)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นบีอิบรอฮีมรู้สึกวางใจที่นำครอบครัวของท่านมาวางไว้ที่หุบเขามักกะฮฺ ไม่ใช่สิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อม ไม่ใช่เพราะทรัพยากรที่มากมาย แต่เพราะที่นั่นมีบัยตุลลอฮฺ และวิสัยทัศน์ของนบีอิบรอฮีมก็ชัดเจน คือเพื่อให้ลูกหลานของท่านได้ดำรงการละหมาด หลังจากนั้นนบีอิบรอฮีมจึงค่อยขอดุอาอ์ส่วนที่เหลือ
فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِّنَ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِمْ وَارْزُقْهُم مِّنَ الثَّمَرَاتِ لَعَلَّهُمْ يَشْكُرُونَ
“…ขอพระองค์ทำให้จิตใจของมวลมนุษย์มุ่งไปยังพวกเขา และโปรดประทานปัจจัยยังชีพที่เป็นพืชผลแก่พวกเขาด้วยเถิด หวังว่าพวกเขาจะขอบคุณ” (อิบรอฮีม 14 : 37)
(2) พ่อแม่ที่ดี
นบีอิสมาอีลมีแบบอย่างที่ดีเลิศในเรื่องความเชื่อมั่นที่สมบูรณ์แบบต่ออัลลอฮฺ ตลอดจนทัศนคติการเพียรพยายามอย่างที่สุดจากคุณแม่คือ “ท่านหญิงฮาญัร” ในตอนที่นบีอิบรอฮีมนำทั้งสองมาวางไว้ที่หุบเขามักกะฮฺอันแห้งแล้งไร้พืชผลนั้น ท่านหญิงฮาญัรได้ถามสามีของเธอว่า “ที่ท่านทำนี้คือคำบัญชาจากอัลลอฮฺใช่ไหม?” นบีอิบรอฮีมตอบว่า “ใช่แล้ว” ท่านหญิงฮาญัรจึงตอบกลับไปด้วยถ้อยคำที่ทรงพลังมาก นั่นคือ “ถ้าอย่างนั้น อัลลอฮฺจะไม่มีวันทิ้งพวกเราอย่างแน่นอน”
(3) ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างพ่อกับลูกถ้าเราสังเกตดูให้ดี ตอนที่นบีอิบรอฮีมได้รับบัญชาให้เชือดอิสมาอีลนั้น ท่านมิได้เร่งรีบลงมือทำทันทีหรือใช้กำลังบีบบังคับ แต่ท่านได้เรียกลูกชายด้วยถ้อยคำที่ดีที่สุด “ยา บุนัยยะ” ลูกรักของพ่อ
จากนั้นท่านก็ถ่ายทอดคำบัญชาที่ได้รับมาจากอัลลอฮฺ และปิดท้ายด้วยคำพูดปลายเปิดว่า “…ลองดูเถอะว่า ลูกคิดเห็นอย่างไรบ้าง?” และนี่คือบทเรียนที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ ลูกของเราจะรักในรูปแบบหรือวิถีชีวิตของเรา เมื่อเรามีบทสนทนาที่อบอุ่นและใกล้ชิดกับลูก ๆ ที่รักของเรา
หวังว่าทุกคนจะได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องนี้นะครับ