:: หนังสือที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาล ::
นี่คือข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับชุดหนังสือที่น่าอัศจรรย์ที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม คือหนังสือ “อัลฟุนูน” ประพันธ์โดย อบุลวะฟาอ์ อลี บินอะกีล บินมุฮัมหมัด บินอะกีล หรือที่รู้จักในชื่อ “อิบนุอะกีล” เราะหิมะฮุลลอฮฺ
(1) หนังสือเล่มนี้มีความหนาถึง 800 เล่ม และถูกยอมรับว่าเป็นหนังสือที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาล ที่ยังไม่มีนักเขียนคนไหนหรือหนังสือเล่มใดเทียบเคียงได้จนถึงปัจจุบันนี้ อิมามอิบนุลเญาซีย์ ได้กล่าวไว้ว่า
لم يصنف في الدنيا أكبر من هذا الكتاب
“ไม่เคยมีการประพันธ์หนังสือเล่มใดในโลกที่จะใหญ่ไปกว่าหนังสือเล่มนี้”
ว่ากันว่า หากจัดเรียงหนังสืออัลฟุนูนต่อกันเป็นแถว มันจะมีความยาวกว่า 40 เมตร
(2) ที่เรียกว่าหนังสือ “อัลฟุนูน” เนื่องจากหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาครอบคลุมในหลากหลายศาสตร์ เริ่มจากวิชาอะกีดะฮฺไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในยุคของผู้เขียน นักวิชาการบางท่านถึงกับบอกว่า มันกล่าวถึงองค์ความรู้กว่า 400 สาขาเลยทีเดียว
นอกจากเนื้อหาวิชาการแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ยังมีการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนในขณะที่กำลังศึกษาเรียนรู้และสอนผู้คน รวมถึงมีคำฟัตวาต่าง ๆ ด้วย อิมามอิบนุเราะญับ อัลหัมบะลีย์ ได้กล่าวว่า
هو كتاب كبير جداً، فيه فوائد جليلة في الوعظ والتفسير، والفقه والأصلين، والنحو، واللغة، والشعر، والتاريخ، والحكايات، وفيه مناظراته ومجالسه التي وقعت له، وخواطره، ونتائج فكره قيدها فيه
“มันคือหนังสือที่ใหญ่มาก มีประโยชน์ที่ดีงามมากมายในนั้น ทั้งคำแนะนำตักเตือน, ตัฟสีร (อัลกุรอาน), บทบัญญัติต่าง ๆ, รากฐานของศาสนา, หลักไวยกรณ์, ภาษา, บทกวี, ประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าต่าง ๆ รวมถึงข้อคิดเห็น, ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอ, ข้อคิด และความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้เอาเขียนไว้”
(3) ตอนหนึ่งของหนังสืออัลฟุนูน ที่มักพบเจอและถูกอ้างถึงกันอย่างแพร่หลายในหนังสือต่าง ๆ คือคำพูดในคำนำที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ว่า
“วิธีที่ดีที่สุดในการใช้เวลาของคน ๆ หนึ่งก็คือ ด้วยการเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้าให้มากขึ้นผ่านการแสวงหาความรู้ มันจะทำให้เขานำพาตัวเองออกจากความมืดมิดของความโง่เขลาไปสู่แสงสว่างของชะรีอะฮฺ (หลักคำสอนของอิสลาม) นั่นคือสิ่งที่ฉันยึดถือเป็นภารกิจ และเป็นสิ่งที่ฉันใช้เวลาของตนเองให้หมดไปกับมัน
ฉันมักจะศึกษาคำแนะนำของบรรดาผู้รู้ที่มีที่มาจากคุณค่าของอัลกุรอาน รวมถึงที่มาจากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ผ่านชั้นเรียนของบรรดาอุละมาอ์หรือการชุมนุมต่าง ๆ ของพวกเขา
ฉันมีความทะเยอทะยานอยู่เสมอ ที่จะบรรลุถึงคุณธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่กับบรรดาอุละมาอ์เหล่านั้น จนกว่าฉันจะห่างไกลจากความเขลาทั้งหลาย และหวังว่าความพยายามดังกล่าวนั้น จะทำให้ฉันได้รับประโยชน์จากชายชาตรีเหล่านี้ แม้เพียงส่วนหนึ่งก็ตาม
หากว่าฉันไม่สามารถบรรลุความคาดหวังทั้งหมดนั้นได้ อย่างน้อยฉันก็สามารถปกปักษ์รักษาเวลาของตนเองจากการหลงระเริงไปกับตัณหาเหมือนพวกสัตว์เดรัจฉาน (ที่มีแต่กิน, นอน, และสืบพันธุ์) นั่นก็เป็นประโยชน์ที่เพียงพอแล้วแก่การขอบคุณ”
(4) ยังไม่มีนักวิชาการหรืออุละมาอ์คนใดที่อ้างว่าได้ศึกษาหนังสือเล่มนี้จบทั้งหมด เชคหากิม อันนัคเราะวีย์ กล่าวว่าได้อ่านไปจนถึงเล่มที่ 304 ส่วนอิมามอิบนุลเญาซีย์บอกว่า ท่านมีหนังสือเล่มนี้ถึงเล่มที่ 150 ในขณะอิมามฮาญีย์มีถึงเล่มที่ 400
(5) หนังสือ “อัลฟุนูน” ถือเป็นคลังสมบัติของชาวมุสลิมที่ได้สูญหายไปพร้อมกับงานเขียนอีกเป็นจำนวนมากในช่วงที่กองทัพมองโกลบุกทำลายเมืองแบกแดด ปัจจุบันมีการพบเจอส่วนต่าง ๆ ของหนังสือเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งส่วนหนึ่งถูกจัดพิมพ์โดยดารุลมัชริก เป็นจำนวน 2 เล่ม ตามที่เชคอับดุลฟัตตาหฺ อบูฆุดดะฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “กีมะตุซ ซะมาน อินดัล อุละมาอ์”
(6) อิมามอิบนุอะกีล เราะหิมะฮุลลอฮฺ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นั้น กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของท่านคือการอ่านและเขียนหนังสือ และความลับประการหนึ่งที่ทำให้ท่านสามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ให้แล้วเสร็จได้ก็คือ ท่านได้ลดเวลาหรือยกเลิกการทำกิจกรรมบางอย่างออกไป เช่น เวลาสำหรับการทานอาหาร การนอนพักผ่อน รวมถึงการเข้าห้องน้ำด้วย กระทั่งมีเรื่องเล่าว่า ท่านจะแช่ขนมปังที่ต้องการกินลงไปในน้ำดื่มก่อน แล้วดื่มเข้าไปพร้อมกัน (ดื่มน้ำพร้อมขนมปังที่ละลายน้ำ) ทั้งนี้เพื่อลดเวลาการกินอาหารให้น้อยลง
———–
อ้างอิง :
1- กีมะตุซ ซะมาน อินดัล อุละมาอ์ โดย เชคอับดุลฟัตตาหฺ อบูฆุดดะฮฺ
2- อัตตัซกิเราะตุ ฟิลฟิกฮิ อะลา มัซฮะบิล อิมามิอะหมัด โดย อิมามอิบนุอะกีล