:: ดุอาอ์ : หนึ่งในอัสบาบที่แข็งแรงที่สุด ::
ตอนนี้เอง ดุอาอ์จึงเป็นหนึ่งในอัสบาบ (เหตุปัจจัย) ที่แข็งแรงที่สุด หากสิ่งหนึ่งถูกลิขิตให้เกิดขึ้นผ่านการขอดุอาอ์ ก็ไม่ถูกต้องเลยที่จะบอกว่า การขอดุอาอ์นั้นไม่มีประโยชน์ใด ๆ เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถที่จะพูดได้ว่า ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ในการกินและดื่ม ตลอดจนทุกการเคลื่อนไหวและการกระทำทั้งหลาย กลับกันไม่มีเหตุปัจจัยใดที่จะมีประโยชน์มากไปกว่าดุอาอ์ และไม่มีสิ่งใดที่มีบทบาทสำคัญในการบรรลุสิ่งที่ต้องการมากไปกว่าการขอดุอาอ์
:: ท่านอุมัรขอดุอาอ์ให้ได้รับชัยชนะ ::
บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม คือกลุ่มคนที่รู้จักอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ดีที่สุด และเป็นคนที่มีความเข้าใจในศาสนาของพระองค์ที่สุดด้วย พวกเขาคือคนที่เที่ยงตรงที่สุดเหนือกว่าคนอื่น ๆ ในการปฏิบัติสาเหตุนี้ (คือ การขอดุอาอ์) ตลอดจนเงื่อนไขและมารยาทต่าง ๆ ของมัน
ท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้มีชัยชนะเหนือศัตรู ทั้ง ๆ ที่ท่านคือนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ท่านได้กล่าวกับสหายทั้งหลายของท่านว่า “พวกท่านมิได้ชนะด้วยกับจำนวนคนที่มากมาย แต่พวกท่านชนะด้วยกับความช่วยเหลือที่มาจากฟากฟ้า”
และท่านยังกล่าวอีกว่า “แท้จริงแล้ว ฉันมิได้มุ่งหวังให้ดุอาอ์ถูกตอบรับในทันที แต่ฉันหวังให้ได้ขอดุอาอ์ต่อไป เมื่อฉันได้รับการดลใจให้ยังคงขอดุอาอ์ต่อไป การตอบรับย่อมมาด้วยแน่นอน”
แล้วนักกวีก็ได้นำสิ่งที่ท่านอุมัรได้กล่าวไว้นั้นมาทำเป็นบทกวีบทหนึ่ง โดยกล่าวว่า
“แม้พระองค์มิทรงตอบรับสิ่งที่บ่าวหวังและวอนขอ
แต่ความใจบุญจากสองพระหัตถ์นั้น บ่าวจะยังคงขอต่อไปมิรู้หยุด”
ดังนั้น ใครก็ตามที่ได้รับการดลใจให้ขอดุอาอ์ แท้จริงอัลลอฮฺประสงค์ให้ดุอาอ์ของเขาถูกตอบรับ เพราะพระองค์ ผู้ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง ได้ตรัสไว้ว่า
ادْعُونِي أَسْتَجِبْ لَكُمْ
จงวิงวอนขอต่อข่า ข้าจะตอบรับแก่พวกเจ้า (ฆอฟิร 40 : 60)
พระองค์ตรัสไว้อีกว่า
وَإِذَا سَأَلَكَ عِبَادِي عَنِّي فَإِنِّي قَرِيبٌ ۖ أُجِيبُ دَعْوَةَ الدَّاعِ إِذَا دَعَانِ
และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้าถึงข้า (จงตอบว่า) แท้จริงแล้วข้าอยู่ใกล้ ข้าจะตอบรับคำวิงวอนของผู้ที่วิงวอน เมื่อเขาวิงวอนต่อข้า (อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 186)
ในหนังสือ “อัสสุนัน” ของอิบนุมาญะฮฺ มีหะดีษจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ซึ่งกล่าวว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า
مَنْ لَمْ يَسْأَلْ اللَّهَ يَغْضَبْ عَلَيْهِ
ใครที่ไม่วิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงโกรธกริ้วเขา (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ ใน “อัลอะดะบุล มุฟร็อด” หะดีษเลขที่ 658, อัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3373 และอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 3827)
นี่บ่งบอกว่า ความพอพระทัยของอัลลอฮฺนั้นอยู่ในการวิงวอนขอและการเชื่อฟังภักดีต่อพระองค์ เมื่อพระผู้อภิบาลพอพระทัยแล้ว ทุกความดีงามก็อยู่ในความพอพระทัยของพระองค์ เช่นเดียวกับที่ทุกภัยพิบัติ (การลงโทษ) นั้นอยู่ในความโกรธกริ้วของพระองค์
อิมามอะหมัดได้กล่าวถึงรายงานหนึ่ง (ที่เป็นหะดีษกุดสีย์) ในหนังสือ “อัซซุฮดฺ” (ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัส) ว่า
“ข้าคืออัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า เมื่อข้าพอพระทัย ข้าก็จะประทานความจำเริญให้ และความจำเริญของข้านั้นไม่มีขอบเขตจำกัด และเมื่อข้าโกรธ ข้าจะสาปแช่งไล่ส่ง (ไม่ให้เข้าใกล้ความเมตตาของข้า) และการสาปแช่งของข้านั้นจะไปถึงลูกหลาน 7 รุ่น”
สติปัญญา, การรายงาน (ตัวบทหลักฐาน), สัญชาตญาณบริสุทธิ์ (ฟิฏเราะฮฺ) และประสบการณ์ของมนุษยชาติ แม้ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา และนิกายที่ต่างกัน ต่างบ่งชี้ว่า การพยายามหาทางใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก แสวงหาความพอพระทัยของพระองค์ และการทำดีกับสิ่งถูกสร้างของพระองค์นั้น คือสาเหตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะชักนำความดีงามทั้งหลายให้เข้ามา และสิ่งที่ตรงข้ามกับมันก็คือสิ่งที่เป็นสาเหตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการชักนำความชั่วร้ายทั้งหลายเข้ามาแทน ไม่มีสิ่งใดที่จะนำพาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ และยับยั้งการลงโทษของพระองค์ได้เหมือนกับการเชื่อฟังและใกล้ชิดกับพระองค์ ตลอดจนการทำดีกับสิ่งถูกสร้างทั้งหลายของพระองค์
———-
จากหนังสือ “อัดดาอ์ วัดดะวาอ์”
(หรือ “อัลญะวาบุลกาฟีย์ ลิมัน สะอะละ อะนิด ดะวาอิชชาฟีย์”)
โดย อิมามอิบนุก็อยยิม อัลเญาซิยยะฮฺ