:: ดุอาอ์ & การลิขิตของอัลลอฮฺ (2) ::
อีกกลุ่มหนึ่งที่อวดฉลาดกว่ากล่าวว่า “ความจริงแล้วดุอาอ์เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น อัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ทำให้มันเครื่องหมายว่าความต้องการจะได้รับการสนอง และเมื่ออัลลอฮฺทรงดลใจให้บ่าวได้ขอดุอาอ์ มันก็เป็นสัญญาณและเครื่องหมายว่าความต้องการของเขาจะได้รับการตอบสนองในเร็ววัน เรื่องนี้ก็เหมือนกับตอนที่คุณเห็นเมฆดำและอากาศที่เย็นในช่วงฤดูฝน นั่นเป็นสัญญาณและเครื่องหมายว่าฝนกำลังจะตกลงมา”
พวกเขากล่าวว่า “นี่แหละคือรูปแบบการเชื่อฟังที่จะได้รับการตอบแทนด้วยผลบุญ ส่วนการปฏิเสธศรัทธาและการฝ่าฝืนนั้นจะถูกตอบแทนด้วยการลงโทษ คือการที่มัน (การเชื่อฟังและการฝ่าฝืน) เป็น (เพียง) เครื่องหมายสำหรับการตอบแทนผลบุญและการลงโทษทรมาน ไม่ใช่สาเหตุ (จริง ๆ) ของมัน”
สำหรับพวกเขาแล้ว นั่นแหละคือความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทำให้แตกกับการแตกสลาย, ไฟเผากับการเผา และการสูญเสียชีวิตกับการฆ่า ไม่มีอะไรที่เป็นสาเหตุให้เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมา และไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ ระหว่างสิ่ง ๆ หนึ่งกับสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากมัน นอกจากความสัมพันธ์ทั่วไป มิได้เป็นเหตุให้เกิดผลแต่อย่างใด แน่นอนว่าความคิดแบบนั้นขัดแย้งกับประสาทสัมผัสและสติปัญญา หลักการศาสนาและสัญชาตญาณธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮฺ) อีกทั้งยังขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีสติปัญญาดีทั้งหลาย และบรรดาผู้มีสติปัญญาดีจะต้องหัวเราะเยาะใส่คนพวกนี้แน่นอน
ที่ถูกต้องคือความเห็นที่ 3 ที่ผู้ถามไม่ได้กล่าวถึง นั่นคือสิ่งต่าง ๆ ถูกลิขิตให้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ และหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้นก็คือดุอาอ์ ไม่มีสิ่งใดที่ถูกลิขิตโดยปราศจากสาเหตุ แต่มันถูกลิขิตให้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุบางอย่าง เมื่อบ่าวได้กระทำสาเหตุ (พยายาม) แล้ว สิ่งที่ถูกลิขิตไว้ก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเขาไม่ได้กระทำเหตุปัจจัยดังกล่าว สิ่งนั้นก็ย่อมไม่เกิดขึ้น และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการลิขิตให้รู้สึกอิ่มและหายกระหายด้วยการกินและดื่ม, การได้ลูกผ่านการมีเพศสัมพันธ์ (ผสมพันธุ์), การได้พืชผลด้วยกับเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการที่ชีวิตของสัตว์ถูกเอาออกไป (ตาย) ด้วยการเชือด และเช่นเดียวกันนั้นเองที่การได้เข้าสวรรค์ถูกลิขิตหรือกำหนดด้วยการกระทำ และการตกนรกก็ถูกลิขิตด้วยการกระทำเช่นกัน
และนี่คือความเห็นที่ถูกต้องที่ผู้ถามถูกห้ามหรือไม่ได้รับการดลใจ (ให้ฉุกคิดขึ้นมา)
———-
จากหนังสือ “อัดดาอ์ วัดดะวาอ์”
(หรือ “อัลญะวาบุลกาฟีย์ ลิมัน สะอะละ อะนิด ดะวาอิชชาฟีย์”)
โดย อิมามอิบนุก็อยยิม อัลเญาซิยยะฮฺ