หะดีษเลขที่ 3
อิสลามถูกสร้างขึ้นบน 5 หลัก
عَنْ عَبْدُ اللّهِ بْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا قَالَ : سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ { بُنِيَ الإِسْلَامُ عَلَى خَمْسٍ، شََهَادَةِ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّه، وَأَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ، وَإِقَامِ الصَّلَاةِ، وَإِيْتَاءِ الزّكَاةِ، وَحَجِّ البَيْتِ، وَصَوْمِ رَمَضَانَ }
رَوَاهُ البُخَارِي وَمُسْلِمٌ
จากอับดุลลอฮฺ บินอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า : ฉันเคยฟังท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “อิสลามถูกสร้างขึ้นบน 5 หลัก (ได้แก่) การปฏิญาณตนว่า ‘ไม่มีพระเจ้า (ที่แท้จริง) อื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมหมัดคือบ่าวและเราะสูล (ศาสนทูต) ของพระองค์, การดำรงละหมาด, การจ่ายซะกาต, การทำหัจญ์ที่บัยตุลลอฮฺ และการถือศีลอดเดือนเราะมะฎอน”
บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษเลขที่ 8) และมุสลิม (หะดีษเลขที่ 16)
คำอธิบาย
อธิบายหะดีษ
เจตนารมณ์ของหะดีษบทนี้คือ อิสลามถูกสร้างขึ้นบนหลัก 5 ประการนี้ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเสาหลักและฐานรากของโครงสร้าง
จุดประสงค์คือการเปรียบอิสลามกับโครงสร้างที่มีเสาหลัก 5 ประการนี้เป็นฐานราก โดยโครงสร้างจะไม่สามารถมั่นคงได้หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ ส่วนคุณลักษณะอื่น ๆ ของอิสลามนั้นเปรียบเสมือนองค์ประกอบของโครงสร้าง หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป โครงสร้างจะบกพร่องลง แต่จะยังคงตั้งอยู่ได้และจะไม่พังทลายลงเพียงเพราะความบกพร่องดังกล่าว ซึ่งต่างจากการขาดเสาหลักทั้ง 5 นี้ เพราะอิสลามจะสูญสิ้นไปทั้งหมดเลยหากขาดเสาหลักเหล่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย
และเช่นเดียวกัน อิสลามจะสูญสิ้นไปหากขาดการปฏิญาณตนทั้งสอง (ชะฮาดะตัยนฺ) โดยที่เจตนารมณ์ของการปฏิญาณตนทั้งสองคือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์
ด้วยเหตุนี้ จึงรู้ได้ว่าการศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายใต้ “อิสลาม” ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในหะดีษก่อนหน้านี้
ข้อตัดสินเกี่ยวกับผู้ที่ทิ้งการละหมาดและหลักการอื่น ๆ
เกี่ยวกับการดำรงไว้ซึ่งการละหมาด มีหะดีษหลายบทที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ทิ้งการละหมาดนั้นถือว่าได้ออกจากอิสลามแล้ว ดังรายงานจากท่านญาบิร : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “ระหว่างบุคคลหนึ่งกับการตั้งภาคี (ชิรกฺ) และการปฏิเสธศรัทธา (กุฟรฺ) นั้นคือการละทิ้งการละหมาด” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 134)
และท่านอับดุลลอฮฺ บินชะกีก ได้กล่าวว่า “บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ไม่เห็นว่ามีการงานใดที่การละทิ้งมันคือการปฏิเสธศรัทธา (กุฟรฺ) นอกจากการละหมาด”
กลุ่มหนึ่งจากบรรพชนรุ่นแรกและรุ่นหลังได้ยึดถือทัศนะนี้ และมุฮัมมมัด บินนัศรฺ อัลมัรวะซีย์ ได้กล่าวว่า : นี่คือทัศนะของนักวิชาการหะดีษส่วนใหญ่
และอีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่า ผู้ที่จงใจละทิ้งหลักการอิสลามข้อใดข้อหนึ่งจาก 5 ข้อนั้นถือเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร)
หลักการทั้ง 5 นี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และมีรายงานว่าบางส่วนจะไม่ถูกตอบรับหากปราศจากอีกส่วนหนึ่ง
ท่านอิบนุมัสอูดได้กล่าวว่า “ผู้ที่ไม่จ่ายซะกาต การละหมาดของเขาไม่ถูกตอบรับ”
และการปฏิเสธการตอบรับในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธความถูกต้อง (เศาะหฺ) หรือความจำเป็นที่จะต้องทำใหม่เมื่อละทิ้ง (เกาะฎออ์) แต่หมายถึงการไม่ได้รับความพอพระทัย ผู้กระทำไม่ได้รับการสรรเสริญ ไม่ได้รับการยกย่องในหมู่ผู้ที่อยู่เบื้องบน และการไม่ได้รับการอวดต่อมลาอิกะฮฺทั้งหลาย
ผู้ที่ปฏิบัติหลักการเหล่านี้อย่างครบถ้วนจะได้รับการตอบรับในความหมายนี้ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเพียงบางส่วนจะไม่ได้รับสิ่งนี้ แม้ว่าเขาจะไม่ถูกลงโทษในสิ่งที่เขาได้ปฏิบัติเหมือนกับผู้ที่ละทิ้ง แต่เขาได้หลุดพ้นจากภาระหน้าที่และอาจได้รับผลบุญด้วย
และจากจุดนี่ เราจึงรู้ว่าการกระทำสิ่งต้องห้ามบางอย่างที่ทำให้การศรัทธาลดลงนั้น อาจเป็นสิ่งที่ขัดขวางการตอบรับการงานที่ดีบางอย่าง แม้จะเป็นหลักการอิสลามบางอย่างในความหมายที่เราได้กล่าวมาแล้ว เช่นที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้ใดดื่มสุรา อัลลอฮฺจะไม่ทรงตอบรับการละหมาดของเขาเป็นเวลา 40 วัน” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 6773 และอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1862)
และท่านยังกล่าวอีกว่า “ผู้ใดไปหาหมอดูและเชื่อในสิ่งที่เขาพูด การละหมาดของเขาจะไม่ถูกตอบรับเป็นเวลาสี่สิบวัน” (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 16638 และ 23222)
และบรรดานักวิชาการได้เปรียบการศรัทธาเหมือนกับต้นไม้ที่มีราก กิ่งก้าน และแขนง ชื่อของต้นไม้นั้นครอบคลุมทั้งหมดนี้ แม้ว่าบางแขนงหรือบางกิ่งก้านจะหายไป มันก็จะยังไม่สูญเสียชื่อว่าเป็นต้นไม้ แต่จะถูกเรียกว่าเป็นต้นไม้ที่บกพร่อง หรือต้นอื่นมีความสมบูรณ์กว่ามัน
และอัลลอฮฺได้ทรงหยิบยกอุปมาการศรัทธาเช่นนี้ไว้ในดำรัสของพระองค์ว่า
﴾ ضَرَبَ اللَّهُ مَثَلًا كَلِمَةً طَيِّبَةً كَشَجَرَةٍ طَيِّبَةٍ أَصْلُهَا ثَابِتٌ وَفَرْعُهَا فِي السَّمَاءِ تُؤْتِي أُكُلَهَا كُلَّ حِينٍ بِإِذْنِ رَبِّهَا ﴿
อัลลอฮฺทรงยกอุปมาคำพูดที่ดีเสมือนต้นไม้ที่ดี รากของมันมั่นคง และกิ่งก้านของมันอยู่บนฟ้า มันให้ผลในทุกเวลาด้วยอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้าของมัน (อิบรอฮีม 14 : 24-25)
และความหมายของ “คำพูด” (หรือ “อัลกะลิมะฮฺ” ในอายะฮฺ) นี้คือคำกล่าวแห่งเตาฮีด (คือการยืนยันในเอกานุภาพของอัลลอฮฺและเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว) โดยที่รากของมันคือเตาฮีดที่มั่นคงอยู่ในหัวใจ ส่วนผลของมันคือการงานที่ดีที่เกิดจากเตาฮีดนั้น