หะดีษเลขที่ 7
ศาสนาคือนะศีหะฮฺ
عَنْ تَميْمٍ الدَّارِيّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ : أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ { الدِّيْنُ النَّصِيْحَةُ } ثلاثًا، قُلْْنَا: لِمَنْ يَا رَسُوْلَ اللَّهِ؟ قَالَ { لِلَّهِ وَلِكِتَابِهِ وَلِرَسُوْلِهِ وَلِأَئِمَّةِ المُسْلِمِيْنَ وَعَامَّتِهِمْ }
رَوَاهُ مُسْلِمٌ
จากท่านตะมีม อัดดารีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ศาสนาคือนะศีหะฮฺ” (ความจริงใจ, ความปรารถนาดี, การตักเตือน) 3 ครั้ง พวกเราถามว่า “เพื่อใครครับ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ?” ท่านนบีตอบว่า “เพื่ออัลลอฮฺ, เพื่อคัมภีร์ของพระองค์, เพื่อเราะสูลของพระองค์, เพื่อบรรดาผู้นำของชาวมุสลิม และเพื่อชาวมุสลิมทั่วไป”
บันทึกโดยมุสลิม (หะดีษเลขที่ 55)
คำอธิบาย
อบูดาวูดได้กล่าวว่า “หะดีษบทนี้เป็น 1 ในหะดีษที่เป็นหลักสำคัญทางฟิกฮฺ (นิติศาสตร์อิสลาม)”
และอัลหาฟิซ อบูนุอัยมฺ ได้กล่าวว่า “หะดีษบทนี้มีความสำคัญยิ่ง โดยมุฮัมหมัด บินอัสลัม อัฏฏูสีย์ ได้กล่าวว่า : มันคือ 1 ใน 4 ของศาสนา”
อธิบายหะดีษ
มีหะดีษจำนวนมากที่กล่าวถึงการมีนะศีหะฮฺต่อชาวมุสลิมโดยรวม และบางบทกล่าวถึงการมีนะศีหะฮฺต่อผู้ปกครองของพวกเขา และบางบทกล่าวถึงการมีนะศีหะฮฺของผู้ปกครองต่อประชาชน
สำหรับประการที่ 1 คือการมีนะศีหะฮฺต่อชาวมุสลิมโดยรวมนั้น มีรายงานจากท่านญะรีรฺ บินอับดุลลอฮฺ กล่าวว่า “ฉันได้ให้สัตยาบันต่อท่านนบีในเรื่องการดำรงละหมาด การจ่ายซะกาต และการมีนะศีหะฮฺต่อมุสลิมทุกคน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 57 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 56)
และมีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “สิทธิของผู้ศรัทธาต่อผู้ศรัทธาด้วยกันเองมี 5 ประการ” และหนึ่งในนั้นคือ “และเมื่อเขาขอนะศีหะฮฺ (ในความหมาย “คำแนะนำตักเตือน”) จากท่าน ก็จงให้นะศีหะฮฺแก่เขา”(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2162)
ส่วนประการที่ 2 คือการมีนะศีหะฮฺต่อผู้ปกครอง และการมีนะศีหะฮฺของพวกเขาต่อประชาชนนั้น มีรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงพอพระทัย 3 สิ่งสำหรับพวกท่าน (คือ) พระองค์พอพระทัยที่พวกท่านเคารพภักดีต่อพระองค์และไม่ตั้งภาคีใด ๆ แก่พระองค์ และการที่พวกท่านยึดมั่นในสายเชือกของอัลลอฮฺกันทั้งหมดและไม่แตกแยกกัน และการที่พวกท่านมีนะศีหะฮฺต่อผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้เป็นผู้ปกครองกิจการงานของพวกท่าน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1715)
และมีรายงานจากท่านมะอฺกิล บินยะสารฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ไม่มีบ่าวคนใดที่อัลลอฮฺทรงให้เขาดูแลประชาชน แล้วเขาไม่ดูแลพวกเขาด้วยนะศีหะฮฺ เว้นแต่เขาจะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 7150 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 142)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้แจ้งว่า ศาสนาคือนะศีหะฮฺ ซึ่งนี่บ่งชี้ว่าการมีนะศีหะฮฺนั้นครอบคลุมคุณลักษณะของอิสลาม อีมาน และอิหฺสาน ที่ได้กล่าวไว้ในหะดีษญิบรีล และท่านได้เรียกทั้งหมดนั้นว่าเป็นศาสนา (ดีน)
แท้จริงการมีนะศีหะฮฺต่ออัลลอฮฺนั้นจำเป็นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต่อพระองค์อย่างสมบูรณ์ที่สุด และนั่นคือระดับของอิหฺสาน ซึ่งจะไม่สมบูรณ์หากปราศจากความรักที่สมบูรณ์ ทั้งที่จำเป็นและที่ส่งเสริม ดังนั้น “นะศีหะฮฺ” จะไม่สมบูรณ์ และจำเป็นต้องมีความพยายามในการเข้าใกล้พระองค์ด้วยการเชื่อฟังที่ส่งเสริมในลักษณะนี้ และละทิ้งสิ่งต้องห้ามและสิ่งที่น่ารังเกียจในลักษณะนี้เช่นกัน
ความหมายของนะศีหะฮฺ
อัลค็อฏฏอบีย์กล่าวว่า “นะศีหะฮฺคือคำที่ใช้แสดงถึงการปรารถนาดีแก่ผู้ที่ได้รับมัน”
ท่านกล่าวว่าอีกว่า “รากศัพท์ของ ‘อันนุศหฺ’ ในภาษาอาหรับ หมายถึงความบริสุทธิ์ เช่นที่กล่าวว่า ‘นะศะหฺตุล อะสัล’ เมื่อท่านทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์จากขี้ผึ้ง”
ดังนั้น ความหมายของการนะศีหะฮฺต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮฺ ก็คือความถูกต้องของความเชื่อในเอกานุภาพของพระองค์ และความบริสุทธิ์ใจในการเคารพภักดีต่อพระองค์
ส่วนนะศีหะฮฺต่อคัมภีร์ของพระองค์ คือการศรัทธาต่อคัมภีร์และการปฏิบัติตามสิ่งที่อยู่ในนั้น
และนะศีหะฮฺต่อเราะสูลของพระองค์ คือการยืนยันในการเป็นนบีของท่าน และการทุ่มเทพยายามเชื่อฟังปฏิบัติตามท่านในสิ่งที่ท่านสั่งใช้และห้าม
ส่วนการนะศีหะฮฺต่อชาวมุสลิมทั่วไปนั้น คือการชี้นำพวกเขาสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเอง
ผู้รู้บางท่านกล่าวว่า : คำอธิบายความหมายของการนะศีหะฮฺโดยภาพรวม คือการเอาใจใส่ด้วยหัวใจต่อผู้ที่ได้รับนะศีหะฮฺ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม และมันมี 2 ลักษณะ หนึ่งคือที่จำเป็น (วาญิบ) และสองคือที่ส่งเสริม (นาฟิละฮฺ)
นะศีหะฮฺที่จำเป็นต่ออัลลอฮฺ คือความเอาใจใส่อย่างมากของผู้นะศีหะฮฺ ในการปฏิบัติตามที่อัลลอฮฺทรงรัก ทั้งในการปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อบังคับและหลีกห่างจากสิ่งที่ต้องห้าม
ส่วนนะศีหะฮฺที่ส่งเสริม คือการให้ความสำคัญกับความรักต่อพระองค์มากกว่าความรักต่อตนเอง นั่นคือเมื่อมี 2 เรื่อง หนึ่งเรื่องเพื่อตนเอง และอีกเรื่องเพื่อพระผู้อภิบาล เขาจะเริ่มด้วยสิ่งที่เป็นของพระผู้อภิบาลของเขาก่อน และเลื่อนสิ่งที่เป็นของตนเองไปทีหลัง นี่คือคำอธิบายโดยรวมของการมีนะศีหะฮฺต่ออัลลอฮฺ ทั้งส่วนที่จำเป็นและส่งเสริม
และหนึ่งในการมีนะศีหะฮฺที่จำเป็นต่ออัลลอฮฺ คือการไม่พอใจต่อการฝ่าฝืน (มะอฺศิยะฮฺ) ของผู้ฝ่าฝืน และรักการเชื่อฟัง (ฏออะฮฺ) ของผู้ที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์
ส่วนการมีนะศีหะฮฺต่อคัมภีร์ของอัลลอฮฺ คือความรักอย่างแรงกล้าและการให้เกียรติอย่างสูงต่อคัมภีร์ เพราะมันคือพระดำรัสของผู้ทรงสร้าง รวมไปถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเข้าใจมัน และความเอาใจใส่อย่างมากในการไตร่ตรองและหยุดพิจารณาขณะอ่านมัน เพื่อแสวงหาความหมายที่พระผู้อภิบาลต้องการให้เขาเข้าใจจากพระองค์ และปฏิบัติตามหลังจากที่เข้าใจแล้ว
ผู้ที่มีนะศีหะฮฺต่อคัมภีร์ของพระผู้อภิบาลจะเอาใจใส่ในการทำความเข้าใจมัน เพื่อจะได้ปฏิบัติต่ออัลลอฮฺด้วยกับสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ตามที่พระองค์ทรงรักและพอพระทัย จากนั้นก็เผยแพร่สิ่งที่เข้าใจนั้นแก่ปวงบ่าวทั้งหลาย และศึกษามันอย่างต่อเนื่องด้วยความรัก และปฏิบัติตามจริยธรรมของมัน และมีมารยาทตามมารยาทของมัน
ส่วนการมีนะศีหะฮฺต่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ คือการทุ่มเทความพยายามในการเชื่อฟังท่าน ช่วยเหลือท่าน สนับสนุนท่าน บริจาคทรัพย์สินเมื่อท่านต้องการ และการรีบเร่งสู่สิ่งที่ท่านรัก
ในขณะที่ (นะศีหะฮฺต่อท่านเราะสูล) หลังจากการเสียชีวิตของท่านนั้น คือการเอาใจใส่ในการแสวงหาสุนนะฮฺของท่าน การค้นคว้าเกี่ยวกับจริยธรรมและมารยาทของท่าน ให้เกียรติต่อคำสั่งของท่าน ยึดมั่นในการปฏิบัติตามท่าน คือความโกรธที่รุนแรงและการหันหลังให้กับผู้ที่ปฏิบัติศาสนาโดยขัดแย้งกับสุนนะฮฺของท่าน ความโกรธต่อผู้ที่ละทิ้งสุนนะฮฺเพื่อผลประโยชน์ทางโลก แม้ว่าเขาจะยึดมั่นในศาสนาก็ตาม และความรักต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์กับท่านไม่ว่าจะทางเครือญาติ การสมรส การอพยพ การช่วยเหลือ หรือการอยู่ร่วม (เป็นเศาะหาบะฮฺ) กับท่านแม้เพียงชั่วโมงเดียวในยามค่ำคืนหรือยามเช้าในอิสลามก็ตาม รวมถึงการเลียนแบบท่านในเรื่องการแต่งกายและเครื่องนุ่งห่ม
ส่วนการมีนะศีหะฮฺต่อผู้นำมุสลิม คือการรักความดีงาม การนำทางที่ถูกต้อง และความยุติธรรมของพวกเขา รักการรวมตัวของประชาชาติภายใต้พวกเขา รังเกียจการแตกแยกของประชาชาติต่อพวกเขา ยึดมั่นต่อการเชื่อฟังพวกเขาในเรื่องที่เป็นการเชื่อฟังอัลลอฮฺ เกลียดชังผู้ที่เห็นว่าควรออกมาต่อต้านพวกเขา และรักการให้เกียรติพวกเขาในการเชื่อฟังอัลลอฮฺ
และการนะศีหะฮฺต่อชาวมุสลิม คือการรักที่จะให้สิ่งที่ดีประสบกับพวกเขาเหมือนที่รักให้ประสบกับตัวเอง และรังเกียจที่จะให้สิ่งที่ไม่ดีประสบกับพวกเขาเหมือนที่รังเกียจจะให้ประสบกับตัวเอง การเป็นห่วงพวกเขา เมตตาผู้เยาว์ของพวกเขา ให้เกียรติต่อผู้อาวุโสของพวกเขา รู้สึกโศกเศร้าต่อความโศกเศร้าของพวกเขา รู้สึกดีใจกับความดีใจของพวกเขา แม้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายทางโลกต่อตนเองก็ตาม เช่น การลดลงของราคาสินค้า แม้ว่าในนั้นจะทำให้การค้าขายของเขาขาดทุนก็ตาม
และหนึ่งในประเภทของการมีนะศีหะฮฺต่อพวกเขา คือการปกป้องพวกเขาจากสิ่งที่เป็นอันตรายและสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ การให้ความสำคัญกับคนยากจนของพวกเขา การสอนผู้ที่ไม่รู้ของพวกเขา การนำผู้ที่หลงผิดในคำพูดหรือการกระทำกลับสู่ความจริงด้วยความอ่อนโยน การสั่งใช้ในสิ่งที่ดีและห้ามปรามในสิ่งที่ชั่วร้ายด้วยความนุ่มนวล ด้วยความรักที่จะขจัดความเสียหายไปจากพวกเขา แม้ว่าจะเกิดความเสียหายทางโลกต่อตนเองก็ตาม ดังที่ชาวสะลัฟบางท่านได้กล่าวไว้ว่า “ฉันปรารถนาให้มนุษย์เหล่านี้เชื่อฟังอัลลอฮฺ แม้ว่าเนื้อหนังของฉันจะถูกตัดด้วยกรรไกรก็ตาม”
ชาวสะลัฟให้ความสำคัญกับการมีนะศีหะฮฺต่อชาวมุสลิม
เกี่ยวกับคำพูดของอบูบักรฺ อัลมุซะนีย์ ที่ว่า “ท่านอบูบักรฺไม่ได้เหนือกว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺท่านอื่น ๆ ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ด้วยการถือศีลอดหรือการละหมาด แต่ด้วยกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจของท่านต่างหาก” อิบนุอุลัยยะฮฺได้กล่าวว่า “สิ่งที่อยู่ในหัวใจของท่านคือความรักต่ออัลลอฮฺ และการมีนะศีหะฮฺต่อสิ่งถูกสร้างของพระองค์”
และอัลฟุฎอยลฺ บินอิยาฎ ได้กล่าวว่า “ผู้ที่บรรลุความประเสริฐในทัศนะของเรามิได้บรรลุด้วยการละหมาดและการถือศีลอดอย่างมากมาย แต่ด้วยความเอื้อเฟื้อของจิตใจ ความบริสุทธิ์ของหัวใจ และการมีนะศีหะฮฺต่อประชาชาติ”
และเมื่อมีผู้ถามอิบนุลมุบาร็อกว่า “การงานใดประเสริฐที่สุด?” ท่านตอบว่า “การมีนะศีหะฮฺต่ออัลลอฮฺ”
มารยาทของชาวสะลัฟในเรื่องนะศีหะฮฺ (ในความหมาย “ตักเตือน”)
เมื่อชาวสะลัฟต้องการนะศีหะฮฺใครคนหนึ่ง พวกเขาจะนะศีหะฮฺอย่างลับ ๆ กระทั่งพวกเขาบางคนกล่าวว่า “ใครที่ตักเตือนพี่น้องของเขาโดยเป็นความลับระหว่างเขากับพี่น้องของเขา นั่นคือนะศีหะฮฺ และใครที่ตักเตือนเขาต่อหน้าผู้คน แท้จริงเขาได้ต่อว่าพี่น้องของเขาเอง”
และอัลฟุฎ็อยลฺได้กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาจะปกปิดและตักเตือน ส่วนผู้ละเมิดจะเปิดโปงและทำให้อับอาย”
และเมื่อมีคนถามท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เกี่ยวกับการสั่งใช้ผู้ปกครองในสิ่งที่ดีและห้ามปรามเขาจากสิ่งที่ชั่วร้าย ท่านก็ได้กล่าวว่า “หากท่านจะทำ จงทำระหว่างท่านกับเขา (คือ ทำลับ ๆ)”