หะดีษเลขที่ 9
การตอบสนองต่อคำสั่งห้ามและคำสั่งใช้ของท่านนบี
عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ قَالَ : سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ { مَا نَهَيْتُكُمْ عَنْهُ فَاجْتَنِبُوْهُ، وَمَا أَمَرْتُكُمْ بِهِ فَأتُوْا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ، فَإِنَّمَا أَهْلَكَ الَّذِيْنَ مِنْ قَبْلِكُمْ كَثْرَةُ مَسَائِلِهِمْ وَاخْتِلَافُهُمْ عَلَى أَنْبِيَائِهِمْ }
رَوَاهُ البُخَارِيُّ وَمُسْلِمٌ
จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ฉันเคยฟังท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “สิ่งใดที่ฉันได้ห้ามพวกท่านไว้ ก็จงออกห่างมันเถิด และสิ่งใดที่ฉันสั่งใช้พวกท่าน ก็จงปฏิบัติมันเท่าที่พวกท่านสามารถ แท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้คนก่อนหน้าพวกท่านต้องพินาศก็คือ การถามซักไซ้ (ที่มากเกินไป) ของพวกเขา และการขัดแย้ง (ไม่เชื่อฟัง) บรรดานบีของพวกเขา”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 7688 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1337)
คำอธิบาย
อธิบายหะดีษ
ในรายงานของมุสลิมมีการกล่าวถึงสาเหตุของหะดีษบทนี้ รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวคุฏบะฮฺแก่พวกเราว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติการประกอบพิธีหัจญ์แก่พวกท่านแล้ว ดังนั้น พวกท่านจงประกอบพิธีหัจญ์เถิด” แล้วชายคนหนึ่งก็ได้ถามว่า “ทุกปีหรือครับ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ?” ท่านนิ่งเงียบ กระทั่งเขาถามซ้ำถึง 3 ครั้ง แล้วท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ตอบว่า “หากฉันตอบว่า ‘ใช่‘ มันก็จะกลายเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) แล้วพวกท่านก็จะไม่สามารถทำได้” หลังจากนั้นท่านก็ได้กล่าวว่า “ปล่อยฉันไว้เถิดตราบใดที่ฉันก็ปล่อยพวกท่านไว้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้ผู้คนก่อนหน้าพวกท่านต้องพินาศ ก็เพราะการถามมากและการขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขา ดังนั้น เมื่อฉันสั่งใช้พวกท่านให้ทำสิ่งใด ก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถ และเมื่อฉันห้ามพวกท่านจากสิ่งใด ก็จงละทิ้งมันเสีย”(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1337)
ห้ามถามในสิ่งที่ไม่จำเป็น
รายงานจากท่านอนัส กล่าวว่า : ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวคุฏบะฮฺแก่พวกเรา แล้วชายคนหนึ่งก็ถามว่า “พ่อของฉันคือใคร?” ท่านเราะสูลตอบว่า “คนนั้น” แล้วอายะฮฺนี้ก็ถูกประทานลงมา
﴾ لَا تَسْأَلُوا عَنْ أَشْيَاءَ ﴿
พวกเจ้าอย่าได้ถามถึงสิ่งต่าง ๆ (ที่ไม่จำเป็น) (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 101) (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 93 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2359)
และมีรายงานจากท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า : คนกลุ่มหนึ่งได้ถามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในเชิงเย้ยหยัน โดยชายคนหนึ่งถามว่า “พ่อของฉันคือใคร?” และอีกคนหนึ่งที่อูฐของเขาหายถามว่า “อูฐของฉันอยู่ที่ไหน?” อัลลอฮฺจึงประทานอายะฮฺนี้ลงมา
﴾ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لَا تَسْأَلُوا عَنْ أَشْيَاءَ ﴿
โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ถามถึงสิ่งต่าง ๆ (ที่ไม่จำเป็น) (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 101) (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 4622)
หะดีษเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการห้ามถามในสิ่งที่ไม่จำเป็น ที่คำตอบของมันอาจทำให้ผู้ถามต้องประสบกับสิ่งเลวร้าย เช่น การถามว่าตนเองจะได้เข้าสวรรค์หรือนรก หรือคนที่เขาเรียกว่าพ่อนั้นใช่พ่อที่แท้จริงของเขาหรือไม่ และรวมถึงการห้ามถามในเชิงยั่วยุ เล่น ๆ หรือเย้ยหยัน เช่นที่พวกมุนาฟิกและคนอื่น ๆ เคยกระทำ
และสิ่งที่ใกล้เคียงกับกรณีนี้คือ การถามเกี่ยวกับสิ่งที่อัลลอฮฺได้ปกปิดจากปวงบ่าวของพระองค์และไม่ได้เปิดเผยให้พวกเขารู้ เช่น การถามเกี่ยวกับเวลาของวันกิยามะฮฺ และเกี่ยวกับวิญญาณ
หะดีษเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นถึงการห้ามมิให้มุสลิมถามมากจนเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่หะลาลและหะรอม ซึ่งเกรงว่าการถามนั้นอาจเป็นสาเหตุให้มีการกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้น เช่น การถามว่าการทำหัจญ์นั้นจำเป็นต้องทำทุกปีหรือไม่
รายงานจากท่านสะอดฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “แท้จริงมุสลิมที่มีความผิดร้ายแรงที่สุดในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง คือผู้ที่ถามเกี่ยวกับสิ่งที่ยังมิได้ถูกห้าม แล้วสิ่งนั้นก็กลายเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะการถามของเขา” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษหมายเลข 7289 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2358)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จะอนุญาตให้ชาวชนบทและคณะทูต (ตัวแทนเผ่าหรือตระกูลต่าง ๆ) ที่มาหาท่านเท่านั้นที่ถามได้เพื่อโน้มน้าวจิตใจพวกเขา ส่วนชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรที่พำนักอยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งความศรัทธาได้ฝังรากลึกในหัวใจแล้วนั้น พวกเขาถูกห้ามไม่ให้ถาม
รายงานจากท่านเนาวาส บินสัมอาน กล่าวว่า “ฉันเคยอาศัยอยู่กับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่เมืองมะดีนะฮฺเป็นเวลา 1 ปี ไม่มีสิ่งใดที่ขัดขวางฉันจากการอพยพนอกจากการถาม (คือ ไม่ยอมอพยพไปที่มะดีนะฮฺ เพื่อจะได้มีสิทธิ์ถามสิ่งต่าง ๆ กับท่านนบี) เพราะเมื่อคนใดในหมู่พวกเราอพยพไปแล้ว เขาจะไม่ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2553)
และรายงานจากท่านอนัส กล่าวว่า “พวกเราถูกห้ามไม่ให้ถามท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกี่ยวกับสิ่งใด ดังนั้น พวกเราจึงชอบมากเมื่อมีชายที่มีสติปัญญาจากชนบทมาถามท่าน แล้วพวกเราก็ได้รับฟัง” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 12)
บางครั้งบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ถามท่านเกี่ยวกับข้อชี้ขาดของเหตุการณ์ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น แต่เพื่อจะได้ปฏิบัติเมื่อมันเกิดขึ้น เช่นที่พวกเขาถามท่านว่า “พวกเราจะพบกับศัตรูในวันพรุ่งนี้ แต่พวกเราไม่มีมีด พวกเราจะเชือดสัตว์ด้วยไม้อ้อได้ไหม?” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษหมายเลข 2488 และมุสลิม หะดีษหมายเลข 1968)
และพวกเขาเคยถามท่านนบีเกี่ยวกับบรรดาผู้นำที่ท่านได้บอกไว้ว่าจะมาหลังจากท่าน เกี่ยวกับการเชื่อฟังและการต่อสู้ร่วมกับพวกเขา และท่านหุซัยฟะฮฺเคยถามเกี่ยวกับฟิตนะฮฺ (ความวุ่นวาย) ต่าง ๆ และสิ่งที่ควรทำในสถานการณ์นั้น (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3606 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1827)
อัลกุรอานครอบคลุมทุกสิ่งที่มุสลิมจำเป็นต้องรู้
คำกล่าวของท่านนบีที่ว่า “ปล่อยฉันไว้เถิดตราบใดที่ฉันก็ปล่อยพวกท่านไว้ เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ทำให้ผู้คนก่อนหน้าพวกท่านต้องพินาศ ก็เพราะการถามมากและการขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขา” ชี้ให้เห็นถึงการรังเกียจและการตำหนิต่อการตั้งคำถาม (ที่ไม่จำเป็น) แต่บางคนอ้างว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เฉพาะในสมัยของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้นเกรงว่าจะมีการห้ามสิ่งที่ยังไม่ถูกห้าม หรือมีการกำหนดให้เป็นข้อบังคับในสิ่งที่ยากที่จะปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ต้องกังวลอีกแล้วหลังจากท่านจากไป
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้การถามมากถูกรังเกียจ ยังมีเหตุผลอื่นที่ท่านอิบนุอับบาสได้ชี้แจงไว้ในคำพูดของท่านว่า “แต่จงรอ เมื่ออัลกุรอานถูกประทานลงมา (เรียบร้อยแล้ว) พวกท่านจะไม่ถามสิ่งใดอีก เว้นแต่ว่าพวกท่านจะพบคำอธิบายของมัน”
นี้หมายความว่า ทุกสิ่งที่ชาวมุสลิมจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับศาสนาของพวกเขานั้น อัลลอฮฺทรงอธิบายไว้ในคัมภีร์อันทรงเกียรติของพระองค์เรียบร้อยแล้ว และเราะสูลของพระองค์ก็เผยแพร่สิ่งนั้นจากพระองค์แล้ว ดังนั้น หลังจากนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดถามอีก เพราะอัลลอฮุ ตะอาลา ทรงรู้ดีถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อปวงบ่าวของพระองค์มากกว่าตัวของพวกเขาเอง สิ่งใดที่เป็นทางนำและประโยชน์แก่พวกเขา อัลลอฮฺจะทรงอธิบายแก่พวกเขาตั้งแต่แรกโดยไม่ต้องถาม ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
﴾ يُبَيِّنُ اللَّهُ لَكُمْ أَنْ تَضِلُّوا ﴿
อัลลอฮฺทรงชี้แจงแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่หลงทาง (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ 4 : 176)
จึงไม่จำเป็นต้องถามเกี่ยวกับสิ่งใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่มันจะเกิดขึ้นและก่อนที่จะมีความจำเป็นต้องรู้ สิ่งที่จำเป็นอีกทั้งสำคัญคือการทำความเข้าใจสิ่งที่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ได้แจ้งไว้ จากนั้นก็ปฏิบัติตามและนำไปใช้
และหะดีษบทนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การยุ่งอยู่กับการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของท่านและหลีกห่างจากสิ่งที่ท่านห้ามนั้น จะทำให้ไม่มีเวลามาถามคำถามต่าง ๆ (ที่ไม่จำเป็น) ดังที่ท่านนบีได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อฉันห้ามพวกท่านจากสิ่งใด ก็จงละทิ้งมันเสีย และเมื่อฉันสั่งใช้พวกท่านให้ทำสิ่งใด ก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถ”
สิ่งที่มุสลิมควรให้ความสำคัญ
สิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ คือการศึกษาค้นคว้าสิ่งที่มาจากอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ จากนั้นก็พยายามทำความเข้าใจสิ่งนั้น และหยุดเพื่อพิจารณาความหมายของมัน แล้วยุ่งอยู่กับการยอมรับในสิ่งนั้นหากเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักความเชื่อ
และหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ก็ให้ทุ่มเทความพยายามในการปฏิบัติตามคำสั่งใช้เท่าที่สามารถทำได้ และหลีกห่างสิ่งที่ถูกห้าม โดยให้ความสนใจทั้งหมดอยู่กับสิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งอื่น
และนี่คือสภาพของบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาตาบิอีนที่ปฏิบัติตามพวกเขาด้วยดี ในการแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์จากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ
แต่หากความสนใจของผู้ฟังเมื่อได้ยินคำสั่งใช้และข้อห้าม คือการพะวงอยู่กับการสมมติสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในข้อห้าม และเป็นการเหนียวรั้งความจริงจังในการปฏิบัติตามคำสั่งใช้
ชายคนหนึ่งได้ถามท่านอิบนุอุมัรเกี่ยวกับการลูบหินดำ ท่านตอบว่า “ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ลูบและจูบมัน” ชายคนนั้นถามต่อว่า “ท่านคิดเห็นอย่างไรหากฉันถูกขัดขวาง? ท่านคิดเห็นอย่างไรหากฉันถูกเบียดเสียด?” ท่านอิบนุอุมัรตอบว่า “จงเก็บคำว่า ‘ท่านคิดเห็นอย่างไร’ ไว้ที่เยเมนเถิด ฉันเห็นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ลูบและจูบมัน” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1611 ด้วยสำนวนที่ใกล้เคียง)
ด้วยเหตุนี้ บรรดาเศาะหาบะฮฺและตาบิอีนจำนวนมากจึงรังเกียจการถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และพวกเขาจะไม่ตอบคำถามเช่นนั้น
ท่านอัมรู บินมุรเราะฮฺ กล่าวว่า : ท่านอุมัรเคยออกมาพบปะผู้คนและกล่าวว่า “ฉันขอสั่งห้ามมิให้พวกท่านถามเราเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเรามีงานที่ยุ่งมากพอซึ่งเกิดขึ้นแล้ว”
เมื่อท่านซัยดฺ บินษาบิต ถูกถามเกี่ยวกับบางสิ่ง ท่านจะถามว่า “สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วหรือยัง?” หากพวกเขาตอบว่า “ไม่” ท่านจะกล่าวว่า “ปล่อยมันไป จนกว่ามันจะเกิดขึ้น”
ท่านมุอ๊าซ บินญะบัล ผู้ที่รอบรู้ที่สุดในเรื่องหะลาลและหะรอม และเป็นผู้ที่จะถูกฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮฺในฐานะอิมาม (ผู้นำ) ของบรรดาผู้รู้หนึ่งร็อตวะฮฺ (บันทึกโดยอะหมัด 18/1 โดย “ร็อตวะฮฺ” หมายถึงระดับและตำแหน่ง) ความรู้ของท่านไม่ได้มาจากการขยายประเด็นปัญหาและการเพิ่มปริมาณมัน อีกทั้งมีรายงานว่าท่านรังเกียจการพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ท่านคือผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับอัลลอฮฺ และเป็นผู้รู้เกี่ยวกับหลักการศาสนาของพระองค์
มีผู้ถามอิมามอะหมัดว่า “เราจะถามใครหลังจากท่าน (จากไป)?” ท่านตอบว่า “อับดุลวะฮฺฮาบ อัลวัรร็อก” มีคนกล่าวกับท่านว่า “เขาไม่ได้มีความรู้ที่กว้างขวาง” ท่านตอบว่า “เขาเป็นคนดี คนเช่นเขาจะได้รับการชี้นำให้ประสบกับความถูกต้อง”
ดังนั้น ผู้ที่ไม่ยุ่งกับการถามคำถามมากมายที่ไม่มีในคัมภีร์และสุนนะฮฺ แต่ยุ่งอยู่กับการทำความเข้าใจดำรัสของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ โดยมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามคำสั่งใช้และหลีกห่างจากข้อห้าม เขาคือผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในหะดีษบทนี้ และเขาปฏิบัติตามข้อกำหนดของมัน
และผู้ที่ไม่สนใจทำความเข้าใจสิ่งที่อัลลอฮฺประทานแก่เราะสูลของพระองค์ แต่ยุ่งอยู่กับการสร้างคำถามมากมายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ และพยายามตอบด้วยความคิดเห็นล้วน ๆ นั้น เกรงว่าว่าเขาจะเป็นผู้ที่ขัดแย้งกับหะดีษบทนี้ ละเมิดข้อห้าม และละทิ้งคำสั่งของมัน
คำกล่าวของท่านที่ว่า “เมื่อฉันห้ามพวกท่านจากสิ่งใด ก็จงละทิ้งมันเสีย และเมื่อฉันสั่งใช้พวกท่านให้ทำสิ่งใด ก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถ” ผู้รู้บางท่านได้กล่าวว่า : สามารถสรุปหะดีษนี้ได้ว่า ข้อห้ามนั้นเข้มงวดกว่าคำสั่งใช้ เพราะในข้อห้ามไม่มีการผ่อนปรนให้ละเมิดแม้แต่น้อย ในขณะที่คำสั่งใช้ถูกจำกัดด้วยความสามารถ และมีรายงาน (ความเห็น) เช่นนี้จากอิมามอะหมัดด้วย
รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ : จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งกล่าวแก่ท่านว่า “จงยำเกรงสิ่งต้องห้าม แล้วท่านจะเป็นผู้เคารพภักดีที่สุดในหมู่มนุษย์” (บันทึกโดยอะห์มัด 8081, อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 4217, และอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2305)
ท่านอัลหะสันกล่าวว่า “ผู้เคารพภักดีไม่เคยเคารพภักดีด้วยสิ่งใดที่จะประเสริฐไปกว่าการละทิ้งสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม”
เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าสิ่งที่มีรายงานเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับการละทิ้งสิ่งต้องห้ามมากกว่าการทำความดีนั้น หมายถึงการทำความดีที่เป็นสุนนะฮฺ มิฉะนั้นแล้วการงานที่เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) โดยรวมก็จะประเสริฐกว่าการละทิ้งสิ่งต้องห้ามโดยรวม เพราะการงานนั้นมีจุดประสงค์ในตัวของมันเอง ในขณะที่สิ่งต้องห้ามนั้นต้องการเพียงการไม่มีอยู่ของมัน (คือไม่ทำมัน) ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่จำเป็นต้องมีเจตนา ซึ่งต่างจากการงานต่าง ๆ (ที่เป็นข้อบังคับซึ่งต้องลงมือกระทำ)
มัยมูน บินมิฮรอน ได้กล่าวว่า “การรำลึกถึงอัลลอฮฺด้วยลิ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ที่ดีกว่าคือการที่บ่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเมื่อพบเจอการฝ่าฝืน (มะอฺศิยะฮฺ) แล้วละเว้นจากมัน”
อิบนุลมุบาร็อกกล่าวว่า “การที่ฉันปฏิเสธเงิน 1 ดิรฮัมที่มีข้อสงสัยนั้น เป็นสิ่งที่ฉันชื่นชอบมากกว่าการบริจาคเงิน 100,000 และอีก 100,000 จนถึง 600,000”
และท่านอุมัร บินอับดุลอะซีซ ได้กล่าวว่า “ความยำเกรงไม่ใช่การละหมาดในยามค่ำคืน และการถือศีลอดในเวลากลางวัน แล้วทำความผิดปะปนในระหว่างนั้น แต่ความยำเกรงคือการปฏิบัติสิ่งที่อัลลอฮฺทรงบัญญัติเป็นข้อกำหนด (ฟัรฎู) และละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม หากมีการงานอื่นนอกจากนั้น มันก็เป็นความดีเพิ่มเติมจากความดี” หรือตามที่ท่านได้กล่าวไว้
สาระสำคัญจากคำพูดของผู้คนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การหลีกห่างจากสิ่งต้องห้ามแม้จะน้อย ประเสริฐกว่าการทำความดีที่เป็นสุนนะฮฺจำนวนมาก เพราะการหลีกห่างจากสิ่งต้องห้ามเป็นสิ่งที่จำเป็น (ฟัรฎู) ในขณะที่การทำความดีที่เป็นสุนนะฮฺเป็นเพียงการเพิ่มเติม
และข้อพิจารณาในเรื่องนี้คือ อัลลอฮฺไม่ทรงบัญญัติการงานที่เกินความสามารถของบ่าว และพระองค์ทรงยกเว้นการงานมากมายเพียงเพราะความลำบาก เป็นการผ่อนปรนและความเมตตาต่อพวกเขา แต่สำหรับข้อห้าม พระองค์ไม่ทรงยอมรับข้ออ้างจากผู้ใดในการละเมิดเพราะแรงกระตุ้นและตัณหา แต่ทรงให้พวกเขาละทิ้งมันในทุกสภาพ
และสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาตให้บริโภคจากอาหารที่ต้องห้ามในยามคับขันนั้น เพียงเพื่อให้มีชีวิตรอด ไม่ใช่เพื่อความสุขสำราญและตัณหา
จากตรงนี้เองเราจึงได้ทราบว่า ถูกต้องแล้วที่อิมามอะหมัดได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริงข้อห้ามนั้นเข้มงวดกว่าคำสั่งใช้” และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จงดำรงให้มั่น แม้พวกท่านจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ตาม” (บันทึกโดยอะหมัด 22378 และอิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 277) หมายถึง (แม้ว่า) พวกท่านจะไม่สามารถดำรงมั่นได้ทั้งหมดก็ตาม
ผู้ที่ไม่สามารถทำตามคำสั่งทั้งหมด ให้ทำเท่าที่สามารถ
และในคำกล่าวของท่านนบีที่ว่า “เมื่อฉันสั่งใช้พวกท่านให้ทำสิ่งใด ก็จงทำมันเท่าที่พวกท่านสามารถ” เป็นหลักฐานว่าผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ทั้งหมด แต่สามารถทำได้บางส่วน ให้เขาปฏิบัติในส่วนที่เขาสามารถทำได้ และหลักการนี้ใช้ได้ในหลายกรณี :
ส่วนหนึ่งคือ การทำความสะอาด (เฏาะฮาเราะฮฺ) หากสามารถทำได้เพียงบางส่วนและไม่สามารถทำส่วนที่เหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีน้ำ หรือมีอาการป่วยที่อวัยวะบางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ก็ให้เขาทำความสะอาดในส่วนที่สามารถทำได้ และทำตะยัมมุมสำหรับส่วนที่เหลือ ซึ่งใช้ได้ทั้งในการอาบน้ำละหมาด (วุฎูอ์) และการอาบน้ำชำระร่างกาย (ฆุสล์) ตามทัศนะที่แพร่หลาย
และอีกส่วนหนึ่งคือ การละหมาด ผู้ที่ไม่สามารถละหมาดภาคบังคับ (ฟัรฎู) ในท่ายืนได้ ให้ละหมาดในท่านั่ง หากไม่สามารถอีก ก็ให้ละหมาดในท่านอน โดยมีรายงานจากท่านอิมรอน บินหุศ็อยนฺ ว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า “จงละหมาดในท่ายืน หากท่านไม่สามารถ ก็จงละหมาดในท่านั่ง และหากท่านไม่สามารถอีก ก็จงละหมาดในท่านอนตะแคง” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1117)
และหากไม่สามารถทำได้ทั้งหมดนั้น หรือแม้แต่การขยับส่วนปลาย (ของร่างกาย) ก็ให้ละหมาดด้วยเจตนา (คือ การละหมาดด้วยการคิดหรือจินตนาการในใจ) และตามทัศนะที่มีแพร่หลายแล้วการละหมาดไม่ถูกยกเว้นจากเขา