:: ชัยชนะที่หิฏฏีน ::
วันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ.1187 หรือ 5 เราะบีอุลอาคิร ปี ฮ.ศ.583 สงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์โลกได้ปะทุขึ้น เป็นการต่อสู้ที่ชี้ชะตาความเป็นไปของ “บัยตุลมักดิส” แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ สุลต่านเศาะลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ (มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ.1138-1193/ ฮ.ศ.532-589) แห่งราชวงศ์อัยยูบียะฮฺได้นำกองทัพอิสลามทำการญิฮาด ต่อสู้กับกองทัพครูเสดที่สมรภูมิหิฏฏีน
เศาะลาหุดดีน ยูสุฟ บิน นัจมุดดีน อัลอัยยูบ แม่ทัพผู้โด่งดัง กล้าหาญ และสามารถรวบรวมประชาชาติอิสลามในตะวันออกกลางให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วขับไล่ทหารครูเสดออกจากแผ่นดินอักศอได้สำเร็จ หลังจากการตายของอะสะดุดดีน ชิรกูฮฺ ผู้แทนเคาะลีฟะฮฺอัลอาฎิดแห่งราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ที่อียิปต์ ในปี ค.ศ.1174 ประชาชนก็เห็นพ้องกันให้เศาะลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ เป็นผู้นำคนใหม่ของพวกเขา การแต่งตั้งให้เศาะลาหุดดีนเป็นสุลต่านคนใหม่นี้เอง สุดท้ายอำนาจของราชวงศ์ชีอะฮฺฟาฏิมียะฮฺก็สิ้นสุดลง แล้วรัฐราชวงศ์อัยยูบียะฮฺก็ได้เริ่มต้นขึ้น (ระหว่างปี ค.ศ.1174-1250)
เหตุการณ์สำคัญที่เป็นชนวนให้สมรภูมิหิฏฏีนปะทุขึ้นคือ เมื่อผู้นำครูเสดคนหนึ่งจากป้อมการัค นามว่า เรนัลด์ เดอ ชาติลโลน (จากฝรั่งเศส) ได้สังหารคณะหุจญาจญ์และคารวานพ่อค้ามุสลิมที่เดินทางจากอียิปต์เข้าสู่เขตแดนภายใต้อำนาจของรัฐครูเสดเยรูซาเล็ม บางรายงานบอกว่า พี่ชายของสุลต่านเศาะลาหุดดีนเองก็เป็นเหยื่อความโหดร้ายของเรนัลด์ด้วย ท่าทีของเขาถือเป็นการตบหน้าดูถูกสุลต่านเศาะลาหุดดีนอย่างรุนแรง เพราะเป็นการละเมิดสัญญาสงบสุขที่ได้ทำร่วมกันเอาไว้
หลังการตายของบอล์ดวินที่ 4 กษัตริย์แห่งรัฐเยรูซาเล็ม กีแห่งลูซินญง (Guy de Lusignan) ก็ได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนบอลด์วินที่ 5 ที่ยังเด็กเกินจะขึ้นมาปกครอง การขึ้นเป็นกษัตริย์ของกีแห่งลูซินญงได้กระพือไฟแห่งการเป็นศัตรูกับอิสลามให้รุนแรงยิ่งขึ้น การประหัตประหารคณะผู้แสวงหาฮัจญ์และคารวานพ่อค้ามุสลิมทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แล้วสถานการณ์ก็ถึงจุดระเบิด เมื่อพวกครูเสดประกาศจะบุกยึดเมืองศักดิ์สิทธิ์อีก 2 แห่งของชาวมุสลิมนั่นคือ เมืองมักกะฮฺและมะดีนะฮฺ พร้อมจะขุดร่างของท่านนบีมุฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ออกจากกุโบร์ของท่านด้วย
เมื่อคำประกาศดังกล่าวทราบไปถึงหูของสุลต่านเศาะลาหุดดีน ความโกรธก็บังเกิดขึ้น มันไม่ใช่ความโกรธของคนขี้โมโห แต่เป็นความโกรธของชายที่อ่อนโยนและสุขุม ซึ่งไม่อาจยินยอมให้การดูถูกเหยียดหยามที่ร้ายแรงนี้ดำเนินต่อไปได้ สุลต่านเศาะลาหุดดีนถึงกับสาบานว่าจะสังหารเรนัล เดอ ชาติลโลนด้วยมือของท่านเอง แล้วสุลต่านก็ได้จัดทัพนักรบ 12,000 นาย มุ่งหน้าสู่สมรภูมิหิฏฏีนทันที กองทัพเศาะลาหุดดีนยึดแหล่งน้ำเกือบทั้งหมดในบริเวณนั้น เป็นกลยุทธที่ทำให้ศัตรูกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบและอ่อนแอ
วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1187 เกิดการต่อสู้ที่รุนแรงระหว่างบรรดามุญาฮิดีนทัพอิสลามกับทหารครูเสด การต่อสู้ดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด กระทั่งสิ้นสุดลงด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 ชัยชนะก็เป็นของอิสลาม ทหารครูเสดพ่ายแพ้ สูญเสียทหารไปมากถึง 30,000 นาย ส่วนทหารมุสลิมตายชะฮีดไปประมาณ 3,000 คน สุลต่านเศาะลาหุดดีนลงมือประหารตัดศรีษะของเรนัลด์ เดอ ชาติลโลน ด้วยตัวของท่านเอง อัศวินเทมพลาร์และฮอสพิทัลเลอร์ก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน กีแห่งลูซินญง กษัตริย์แห่งเยรูซาเล็ม ถูกจับกุมตัวและส่งไปจองจำที่คุกดะมัสกัส
ชัยชนะที่หิฏฏีนได้จุดประกายไฟแห่งความหวังและความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ เพื่อทวงคืนแผ่นดินอักศอกลับคืนมาจากทหารครูเสด นั่นคือช่วงเวลาที่ประชาชาติอิสลามรู้สึกฮึกเหิมและกลับมามีความหวังอีกครั้ง ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น หลังจากขับไล่ทหารครูเสดส่วนใหญ่ออกจากแผ่นดินปาเลสไตน์ไปได้แล้ว วันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 สุลต่านเศาะลาหุดดีน ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการพิชิตบัยตุลมักดิสคืนมาจากพวกครูเสดได้สำเร็จ ท่านเป็นสุลต่านที่มีจิตใจสูงส่ง ท่านเปิดโอกาสให้ชาวคริสเตียนออกจากเมืองศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วยความปลอดภัยและอนุญาตให้พวกเขาจ่ายค่าไถ่ถอนตัวได้
ชาวเมืองทุกคนได้รับการอภัยโทษ ไม่มีการหลั่งเลือดสังหารเหมือนกับที่พวกครูเสดเคยทำไว้กับชาวมุสลิม ครั้งตอนที่พวกเขาบุกยึดแผ่นดินนี้ไปในปี ค.ศ.1099 ในตอนนั้น ทหารครูเสดฆ่าประชาชนชาวอักศอทั้งหมดอย่างโหดเหี้ยม เด็กทารกถูกเผาทิ้ง ผู้หญิงถูกจับข่มขืนอย่างไร้มนุษยธรรม คนชราถูกทุบตี บ้านเรือนถูกเผาทำลายจนหมดสิ้น
การพิชิตบัยตุลมักดิสในครั้งนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดสงครามครูเสด ครั้งที่ 2 แต่อย่างไรก็ตาม สงครามครูเสดครั้งใหม่ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ.1189 ตรงกับปี ฮ.ศ.585 กองทัพครูเสดใหม่ที่รวบรวมมาจากฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน ได้เคลื่อนทัพมาปิดล้อมแผ่นดินอักศอหวังจะยึดคืนอีกครั้ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพของสุลต่านเศาะลาหุดดีน อัลอัยยูบีย์ อีกครั้ง
———————
อ้างอิง :
1. Perang Salib II เขียนโดย Abdul Latip Talib
2. Salahudin Al-Ayyubi : Penakluk Jerusalem เขียนโดย Abdul Latip Talib
3. Battle of Hattin, Middle Eastern Histtory ดู http://www.historyofwar.org/articles/battles_hattin.html