:: อิมามอิบนุกะกีล : เจ้าของหนังสือที่ใหญ่ที่สุดตลอดกาล ::
นี่คือชีวประวัติโดยสังเขปของผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของหนังสือที่หนาที่สุด นั่นคือหนังสือ “อัลฟุนูน” ซึ่งยังไม่มีผู้รู้หรือมนุษย์คนใดที่สามารถเขียนหนังสือเทียบเคียงหนังสือชุดนี้ได้จนถึงปัจจุบัน
“อิมามอิบนุอะกีล” หรือ “อิมามอบุลวะฟาอ์ อลี บินอะกีล อัลหัมบะลีย์” เราะหิมะฮุลลอฮฺ ผู้รู้ที่สมถะ ใจบุญ และร่ำรวย อิมามอิบนุหะญีร เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้พูดถึงท่านไว้ว่า “หนึ่งในบุคคลที่รอบรู้ที่สุด ยากจะหาใครในยุคของท่านมาเทียบเคียงได้ เป็นผู้รู้ ที่อ้างอิงกลับ และเฉลียวฉลาด…เป็นหนึ่งในอิมามใหญ่” (ลิสานุล มีซานฯ โดย อิมามอิบนุหะญัร เล่มที่ 5 หน้าที่ 563)
อิมามอิบนุลเญาซีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “อิบนุอะกีลคือคนที่ยึดมั่นในศาสนา เป็นผู้ปกปักษ์รักษาขอบเขตหลักการ ความอดทนที่น่าประหลาดใจปรากฏให้เห็นจากตัวเขา เขาเป็นคนที่ใจบุญที่ชอบบริจาคสิ่งที่ตนมี แต่มิได้ทิ้งสิ่งใดไว้นอกจากหนังสือและเสื้อผ้าที่อยู่กับตัวของเขาเท่านั้น” (สิยัร อะอฺลามิน นุบะลาอ์ โดย อิมามอัซซะฮะบีย์ เล่มที่ 19 หน้าที่ 446)
อิมามอิบนุลเญาซีย์ ยังกล่าวอีกว่า “เขามีเอกลักษณ์ของตนเองในงานเขียน และเป็นอิมามในยุคของเขาด้วย โดยมีความดีงามมากมายปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด” (สิยัร อะอฺลามิน นุบะลาอ์ โดย อิมามอัซซะฮะบีย์ เล่มที่ 19 หน้าที่ 447)
หลายคนเข้าใจผิดว่าท่านคือผู้อธิบายหนังสือ “อัลฟิยยะฮฺ อิบนุมาลิก” หนังสือบทกลอนอันโด่งดังในวิชาไวยกรณ์อาหรับ (นะหฺวู) ทั้ง ๆ ที่หนังสือ “ชัรหฺ อิบนุอะกีล” นั้น เป็นงานเขียนของผู้รู้อีกท่านหนึ่งที่บังเอิญชื่อ “อิบนุอะกีล” เหมือนกัน แต่ชื่อจริงของผู้รู้ท่านนี้คือ “อับดุลลอฮฺ บินอับดุรเราะหฺมาน” ผู้รู้จากแผ่นดินชาม เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.769 ซึ่งมาหลังอิมามอิบนุอะกีลที่เสียชีวิตในปี ฮ.ศ.513 กว่า 2 ศตวรรษ
ในช่วงเริ่มต้นของชีวิต อิมามอิบนุอะกีลเคยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากพวกมุอฺตะซิละฮฺ แต่ท่านกลับเนื้อกลับตัวมาสู่แนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ (มะอฺริฟะตุล กุรรอ์ฯ โดย อิมามอัซซะฮะบีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 380)
อิมามอิบนุลอะษีร เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “เขาเคยยุ่งอยู่กับแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ ภายใต้การดูแลของอลี บินอัลวะลีด จนกระทั่งชาวหะนาบิละฮฺ (อะฮฺลุลหะดีษ) ต้องการสังหารเขา เขาได้ขอความคุ้มครองจากผู้ปกครองรัฐนานหลายปี กระทั่งเขาได้ประกาศการกลับเนื้อกลับตัว” (ตารีค อิบนุลอะษีร โดย อิมามอิบนุลอะษีร เล่มที่ 10 หน้าที่ 561)
อิมามอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ ได้กล่าว่า “ท่านคือผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง เป็นความจริงที่ว่าท่านเคยเป็นสาวกของแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺ แต่ท่านได้ประกาศกลับเนื้อกลับตัว เป็นการกลับเนื้อกลับตัวที่จริงจัง และท่านได้เขียนหนังสือเพื่อหักล้างพวกมุอฺตะซิละฮฺด้วย” (ลิสานุล มีซานฯ โดย อิมามอิบนุหะญัร เล่มที่ 4 หน้าที่ 243)
เพราะความเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษ แม้ในตอนที่ท่านมีแนวคิดมุอฺตะซิละฮฺเอง ก็ไม่มีใครที่สามารถเอาชนะท่านได้ในการโต้เถียงต่าง ๆ อิมามอัซซะฮะบีย์ได้กล่าวว่า “ไม่มีใครในยุคของท่านที่สามารถโต้เถียงและหักล้างอุตริกรรมของท่านได้” (สิยัร อะอฺลามิน นุบะลาอ์ โดย อิมามอัซซะฮะบีย์ เล่มที่ 19 หน้าที่ 445)
ขณะประกาศการเตาบะฮฺกลับเนื้อกลับตัวนั้น อิมามอิบนุอะกีลได้เชิญผู้คนมากมาย รวมถึงบรรดาอุละมาอ์ในมัซฮับต่าง ๆ มาเป็นสักขีพยานการกลับเนื้อกลับตัวของท่านด้วย และท่านได้กล่าวว่า “ฉันขอยอมจำนนต่ออัลลอฮฺด้วยการประกาศตัดข้อผูกพันต่าง ๆ จากแนวทางที่อุตริกรรมของมุอฺตะซิละฮฺและอื่น ๆ รวมถึงจากการติดตามแกนนำ และการยกย่องสาวกของแนวทางดังกล่าวด้วย…ฉันขอกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺจากสิ่งที่ฉันเคยเขียน และฉันไม่อนุญาตให้ใครคัดลอก อ่าน และยึดถือมันเป็นหลักความเชื่อของตนเอง” (อัซซัยลฺ อะลา เฏาะบะกอต อัลหะนาบิละฮฺ โดย อิมามอิบนุเราะญับ อัลหัมบะลีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 322)
สิ่งที่ท่านทำนี้แสดงให้เห็นถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ ความถ่อมตน และความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ท่านยอมรับอย่างตรงไปตรงมาถึงความผิดพลาดของตนเอง เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นเดินตามรอยความผิดพลาดของท่าน
อิมามอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวว่า “ท่านกลับเนื้อกลับตัวอย่างแท้จริง แล้วต่อมาก็ได้เขียนหนังสือเพ่อหักล้างพวกเขา (มุอฺตะซิละฮฺ) และบรรดาอุละมาอ์ในยุคของท่านและยุคต่อมาก็ได้ยกย่องท่านด้วย” (ลิสานุล มีซานฯ โดย อิมามอิบนุหะญัร เล่มที่ 4 หน้าที่ 243)
อิมามอิบนุอะกีลได้ชื่อว่าเป็นคนที่ละเอียดอ่อนและรอบคอบในการใช้เวลามาก และเพื่อให้สามารถอิบาดะฮฺได้เต็มที่ โดยเฉพาะเพื่อเขียนหนังสือ ท่านจึงลดเวลาการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ต้องใช้เวลามากก็ได้ลงไป เช่น การกินและดื่ม และการเข้าห้องน้ำ
ท่านได้กล่าวไว้ว่า “ฉันพยายามลดเวลาการกินอาหารให้ได้มากที่สุด จนฉันเลือกที่จะกินขนมปังแห้งโดยจุ่มลงไปในน้ำ เพราะมีความแตกต่างของเวลาที่ใช้ในการเคี้ยวระหว่างการกินทั้ง 2 แบบ (คือ การกินขนมปังแห้งกับการจุ่มมันลงไปในน้ำแล้วค่อยกิน) เพื่อให้ฉันมีเวลาในการศึกษาเรียนรู้และแสวงหาประโยชน์จากความรู้ที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด” (กีมะตุซ ซะมาน อินดัล อุละมาอ์ โดย เชคอับดุลฟัตตาหฺ อบูฆุดดะฮฺ หน้าที่ 54)
อิมามอิบนุลเญาซีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวถึงอิมามอิบนุอะกีล ว่า “ท่านเป็นคนที่ยุ่งอยู่กับความรู้…มีมันสมองที่เฉลียวฉลาดมาก และมีความสามารถในการเจาะลึกปัญหาที่ซับซ้อนและลงรายละเอียดในประเด็นปัญหา” (อัซซัยลฺ อะลา เฏาะบะกอต อัลหะนาบิละฮฺ โดย อิมามอิบนุเราะญับ อัลหัมบะลีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 145)
หนังสือ “อัลฟุนูน” ไม่ใช่หนังสือเพียงเล่มเดียวของอิมามอิบนุอะกีล อุละมาอ์บางท่านบอกว่า ท่านยังมีหนังสืออีกกว่า 20 ชื่อเรื่อง (ไม่ใช่ 20 เล่มหนังสือ) ส่วนหนึ่งคือ อัลญะดัล อะลา เฏาะรีเกาะติล ฟุเกาะฮาอ์, อัลฟุศูล, กิฟายะตุล มุฟตีย์, อุมดะตุล อะดิลละฮฺ, อัลมุฟเราะดาต, อัตตัซกิเราะฮฺ, อัลอิชาเราะฮฺ และอัลมันษูร เป็นต้น แต่น่าเสียดายที่งานเขียนหลายชิ้นของท่านยังไม่เสร็จสมบูรณ์
มีเรื่องเล่าหนึ่งในชีวิตของอิมามอิบนุอะกีล ซึ่งพิเศษไม่เหมือนกันและเป็นเรื่องเล่าที่เป็นบทเรียนที่มีค่ามาก โดยที่ท่านได้เล่าไว้ด้วยตัวเองว่า
“ฉันเคยเดินทางไปทำหัจญ์และได้พบเจอสร้อยคออัญมณีที่ใช้ด้ายสีแดง แต่แล้วชายชราตาบอดคนหนึ่งก็มาหามัน และเขาสัญญาว่าเขาจะมอบเงินรางวัล 100 ดีนาร ให้กับคนที่เจอมันและนำส่งคืนให้กับเขา ฉันจึงคืนสร้อยคอนั้นให้เขา แต่ฉันปฏิเสธเมื่อเขาจะมอบเงินรางวัลให้
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีหัจญ์ ฉันก็มุ่งหน้าไปยังแผ่นดินชามและเยี่ยมเยียนมัสญิดอัลอักศอ และเมื่อฉันไปถึงเมืองอะเล็ปโป ฉันก็เข้าไปพักที่มัสญิดหลังหนึ่งในสภาพที่หนาวเหน็บและหิวโหย เมื่อเวลาละหมาดมาถึง ผู้คนก็ขอให้ฉันเ)นอิมาม ฉันจึงเป็นอิมาม เมื่อละหมาดเสร็จแล้ว พวกเขาก็เลี้ยงอาหารฉัน
เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนเราะมะฎอน พวกเขาคนหนึ่งขอร้องฉันว่า ‘อิมามของเราเพิ่งเสียชีวิตไป ได้โปรดเป็นอิมามนำละหมาดพวกเราตลอดเดือนนี้ด้วยเถิด’ ฉันจึงตอบรับคำขอของพวกเขา เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็บอกว่า “อิมามของเรามีลูกสาวคนหนึ่ง ท่านอยากแต่งงานกับเธอไหม?” สุดท้ายฉันก็แต่งงานกับลูกสาวของอิมาม (ที่เสียชีวิตไป)
วันหนึ่งฉันมองดูภรรยาของตัวเอง ปรากฏว่าที่คอของเธอมีสร้อยคออัญมณีที่ใช้ด้ายสีแดงที่ฉันเคยเจอที่เมืองมักกะฮฺ ฉันจึงถามภรรยาว่า ‘สร้อยคอนี้มีเรื่องราว’ แล้วฉันก็เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่มักกะฮฺให้เธอฟัง เมื่อเธอได้ฟังเรื่องที่ฉันเล่า เธอก็ร้องไห้และกล่าวขึ้นมาว่า ‘แสดงว่า ผู้ชายคนนั้นคือท่านนี่เอง ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ตอนนั้นพ่อของฉันท่านร้องไห้ และท่านได้ขอดุอาอ์ว่า ‘โอ้อัลลอฮฺ โปรดให้ลูกสาวของบ่าวมีสามีที่เหมือนกับชายคนที่คืนสร้อยคอเส้นนี้มาด้วยเถิด’ และอัลลอฮฺทรงตอบรับดุอาอ์ของคุณพ่อแล้ว’ (สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอ์ โดย อิมามอัซซะฮะบีย์ เล่มที่ 19 หน้าที่ 449-450)
และนี่ก็คือประวัติโดยสังเขปของอิมามอิบนุอะกีล เราะหิมะฮุลลอฮฺ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ