:: ภาคผลของการมอบหมาย (ตะวักกัล) ต่ออัลลอฮฺ ::
มุหัมมัด อับดุฮฺ ตัวสิกัล เขียน I Zunnur แปล
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล ขอพรและความศานติจงมีแด่ท่านนบีมุฮัมหมัดของเรา ตลอดจนครอบครัว และมิตรสหายของท่าน
ผลตอบแทนของการมอบหมาย (ตะวักกัล) ต่ออัลลอฮนั้นมีมากมาย ที่สำคัญที่สุดคือ อัลลอฮจะทรงให้พอเพียงแก่ทุกกิจการงานของผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์
อัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่ง ได้ตรัสไว้ว่า
وَمَنْ يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ
และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮ พระองค์จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา (อัฏเฏาะลาก 65 : 3)
ผู้ที่มอบหมายการงานของเขาแก่อัลลอฮ ด้วยการมอบหมายแก่พระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น เขาคือผู้ที่ยอมรับว่าไม่มีผู้ใดจะนำพาความดีงาม และทำให้ภยันตรายต่าง ๆ สิ้นสูญไปได้ นอกจากอัลลอฮเท่านั้น ดังคำกล่าวในอายะฮฺข้างต้นว่า “พระองค์จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา” คืออัลลอฮจะทรงปกป้องคุ้มครองเขาจากภยันตรายทั้งหลาย เป็นการตอบแทนที่คู่ควรต่อการกระทำของเขา
เมื่อคน ๆ หนึ่งมอบหมายต่ออัลลอฮด้วยการมอบหมายที่แท้จริง อัลลอฮจะทรงตอบแทนเขาอย่างเพียงพอ คือพระองค์จะทรงทำให้การงานของเขาง่ายดาย และเขาก็จะไม่พึ่งพาสิ่งอื่นใดอีกนอกจากพระองค์ นี่คือ ภาคผลอันยิ่งใหญ่ของการมอบหมาย (ตะวักกัล)
อัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่ง ได้ตรัสไว้ว่า
يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ حَسْبُكَ اللَّهُ
โอ้นบี! อัลลอฮนั้นเป็นที่พอเพียงแก่เจ้าแล้ว (อัลอันฟาล 8 : 64)
وَإِنْ يُرِيدُوا أَنْ يَخْدَعُوكَ فَإِنَّ حَسْبَكَ اللَّهُ هُوَ الَّذِي أَيَّدَكَ بِنَصْرِهِ وَبِالْمُؤْمِنِينَ
และถ้าหากพวกเขาต้องการที่จะหลอกลวงเจ้า แท้จริงอัลลอฮพอเพียงแก่เจ้าแล้ว พระองค์คือผู้ที่ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย (อัลอันฟาล 8 : 62)
ดังนั้น ภาคผลสำคัญที่สุดจากการมอบหมายต่ออัลลอฮก็คือ อัลลอฮจะทรงประทานความพอเพียงแก่ผู้ที่มอบหมายต่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮจึงได้ตรัสถึงนบีนูหฺ ในขณะที่ท่านได้กล่าวแก่กลุ่มชนของท่านว่า
وَاتْلُ عَلَيْهِمْ نَبَأَ نُوحٍ إِذْ قَالَ لِقَوْمِهِ يَا قَوْمِ إِن كَانَ كَبُرَ عَلَيْكُم مَّقَامِي وَتَذْكِيرِي بِآيَاتِ اللَّهِ فَعَلَى اللَّهِ تَوَكَّلْتُ فَأَجْمِعُوا أَمْرَكُمْ وَشُرَكَاءَكُمْ ثُمَّ لَا يَكُنْ أَمْرُكُمْ عَلَيْكُمْ غُمَّةً ثُمَّ اقْضُوا إِلَيَّ وَلَا تُنظِرُونِ
และเจ้าจงอ่านให้พวกเขาฟังถึงเรื่องราวของนูห เมื่อเขา (นูห) กล่าวแก่ประชาชาติของเขาว่า โอ้หมู่ชนของฉัน หากว่าการพักอยู่ของฉันและการตักเตือนของฉันด้วยกับโองการทั้งหลายของอัลลอฮเป็นเรื่องใหญ่แก่พวกท่านแล้ว ดังนั้นฉันขอมอบหมายแด่อัลลอฮเท่านั้น พวกท่านจงร่วมกันวางแผนของพวกท่านพร้อมกับบรรดาภาคีของพวกท่านเถิด แล้วอย่าได้ปิดบังแผนการของพวกท่าน แล้วจงดำเนินการต่อฉันทันทีและอย่าได้รีรอเลย (ยูนุส 10 : 71)
อัลลอฮได้ตรัสถึงนบีฮูดว่า
إِن نَّقُولُ إِلَّا اعْتَرَاكَ بَعْضُ آلِهَتِنَا بِسُوءٍ ۗ قَالَ إِنِّي أُشْهِدُ اللَّهَ وَاشْهَدُوا أَنِّي بَرِيءٌ مِّمَّا تُشْرِكُونَ ﴿٥٤﴾ مِن دُونِهِ ۖ فَكِيدُونِي جَمِيعًا ثُمَّ لَا تُنظِرُونِ ﴿٥٥﴾ إِنِّي تَوَكَّلْتُ عَلَى اللَّهِ رَبِّي وَرَبِّكُم ۚ مَّا مِن دَابَّةٍ إِلَّا هُوَ آخِذٌ بِنَاصِيَتِهَا ۚ إِنَّ رَبِّي عَلَىٰ صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ ﴿٥٦﴾
เราจะไม่กล่าวสิ่งใดเว้นแต่พระเจ้าบางองค์ของเราได้นำความชั่วเข้าไปสิงในตัวท่าน เขา (ฮูด) ได้กล่าวว่า แท้จริงฉันขอให้อัลลอฮทรงเป็นพยาน แล้วพวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่าแท้จริงฉันปลีกตัวออกจากสิ่งที่พวกท่านตั้งภาคีอื่นจากพระองค์ ดังนั้นพวกท่านทั้งหมดจงวางแผนทำร้ายฉันเถิด แล้วพวกท่านอย่าได้ให้ฉันต้องรอคอยเลย แท้จริงฉันมอบหมายต่ออัลลอฮ (พระองค์คือ) พระเจ้าของฉันและพระเจ้าของพวกท่าน ไม่มีสัตว์เลื้อยคลานใดเว้นแต่พระองค์ทรงกำขมับของมันไว้ (คือทรงมีอำนาจเหนือมัน) แท้จริงพระเจ้าของฉันอยู่บนทางที่เที่ยงตรง (ฮูด 11 : 54-46)
อัลลอฮได้ตรัสถึงนบีชุอัยบฺว่า
وَمَا تَوْفِيقِي إِلَّا بِاللَّهِ عَلَيْهِ تَوَكَّلْتُ وَإِلَيْهِ أُنِيبُ
ฉันมิปรารถนาสิ่งใดนอกจากการปฏิรูปให้ดีขึ้นเท่าที่ฉันสามารถ และความสำเร็จของฉันจะไม่เกิดขึ้น เว้นแต่ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮ แด่พระองค์ฉันขอมอบหมายและยังพระองค์เท่านั้นที่ฉันจะกลับไปหา (ฮูด 11 : 88)
และอัลลอฮได้ตรัสถึงท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่า
أَلَهُمْ أَرْجُلٌ يَمْشُونَ بِهَا ۖ أَمْ لَهُمْ أَيْدٍ يَبْطِشُونَ بِهَا ۖ أَمْ لَهُمْ أَعْيُنٌ يُبْصِرُونَ بِهَا ۖ أَمْ لَهُمْ آذَانٌ يَسْمَعُونَ بِهَا ۗ قُلِ ادْعُوا شُرَكَاءَكُمْ ثُمَّ كِيدُونِ فَلَا تُنظِرُونِ ﴿١٩٥﴾ إِنَّ وَلِيِّيَ اللَّهُ الَّذِي نَزَّلَ الْكِتَابَ ۖ وَهُوَ يَتَوَلَّى الصَّالِحِينَ ﴿١٩٦﴾ وَالَّذِينَ تَدْعُونَ مِن دُونِهِ لَا يَسْتَطِيعُونَ نَصْرَكُمْ وَلَا أَنفُسَهُمْ يَنصُرُونَ ﴿١٩٧﴾
จงกล่าวเถิด (มุฮัมหมัด) ว่า พวกท่านจงวิงวอนขอต่อบรรดาภาคีของพวกท่านเถิด แล้วจงวางอุบายแก่ฉันด้วย อย่าได้ประวิงเวลาให้แก่ฉันเลย แท้จริงผู้คุ้มครองฉันคืออัลลอฮ ผู้ทรงประทานคัมภีร์ลงมา และในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงคุ้มครองบรรดาคนดีทั้งหลายด้วย และบรรดาผู้ที่พวกเจ้าวิงวอนขออื่นจากพระองค์นั้น พวกมันไม่สามารถจะช่วยเหลือพวกเจ้าได้ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวของพวกมันเองด้วย (อัลอะอฺรอฟ 7 : 195-197)
อัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่ง ได้บอกเล่าเรื่องราวของบรรดาเราะสูลที่ประเสริฐทั้งหลายของพระองค์ ซึ่งรอดพ้นจากกลุ่มชนและสิ่งสักการบูชาของพวกเขา กุญแจสำคัญคืออะไร? คำตอบคือ การมอบหมายต่ออัลลอฮ ผู้ใดมอบหมายต่ออัลลอฮ พระองค์จะทรงประทานความพอเพียงแก่เขาอย่างแน่นอน
ภาคผลอื่นจากการมอบหมาย คือได้รับความรักจากอัลลอฮ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ
แท้จริงอัลลอฮทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย (อาลิอิมรอน 3 : 159)
ผู้ใดมอบหมายต่ออัลลอฮอย่างแท้จริง อัลลอฮจะทรงรักเขา เมื่ออัลลอฮทรงรักเขา เขาก็จะมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เขาจะกลายเป็นผู้ที่พระองค์ทรงรัก และเป็นคนรักของพระองค์
ภาคผลชองการมอบหมายลำดับที่ 3 คือ ผู้ที่มอบหมาย (ต่ออัลลอฮ) จะมีความง่ายดายในการทำคุณงามความดีทั้งหลาย โดยปราศจากความกลัวและหวาดระแวง เว้นแต่ต่อพระอัลลอฮเท่านั้น เช่น ผู้ที่ทำการญิฮาดในสมรภูมิ โดยต่อสู้กับผู้ปฏิเสธศรัทธา ความทุ่มเทและความมุ่งมั่นของพวกเขา และการมอบหมายนี้แหล่ะ ที่นำพาความกล้าหาญและความเข้มแข็งแก่พวกเขา ศัตรูและความยากลำบากเบื้องหน้าพวกเขาจะกลายเป็นสิ่งเบาหวิวเพราะมอบหมายต่ออัลลอฮ และเมื่อพวกเขาต้องสิ้นชีพไปในตอนสุดท้าย พวกเขาก็จะสิ้นชีพไปในหนทางของอัลลอฮ พวกเขาคือผู้ได้รับชะฮีดในหนทางของอัลลอฮ ทั้งหมดนี้ล้วนมาจากการมอบหมายทั้งสิ้น
ภาคผลของการมอบหมายลำดับที่ 4 คือ เขาจะมีพลังใจในการแสวงว่าปัจจัยยังชีพ ศึกษาเรียนรู้ และทำสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งหลาย แบบนี้แหล่ะที่ได้ชื่อผู้ที่มอบหมายต่ออัลลอฮฺ เขาคือคนที่มีพลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ เพราะเขารู้ดีว่าอัลลอฮอยู่เคียงข้างและคอยช่วยเหลือผู้มอบหมายต่อพระองค์เสมอ ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงานศาสนาและกิจกรรมที่มีประโยชน์ในดุนยา และเขาจะไม่เกียจคร้านแต่อย่างใด
เราต่างเป็นประจักษ์พยานว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม คือผู้ที่มีหัวใจที่มีพลัง พวกเขาคือผู้ที่ดำรงมั่นอยู่บนการมอบหมายต่ออัลลอฮอย่างแท้จริง และด้วยคุณลักษณะนี้เองพวกเขาจึงสามารถพิชิตเมืองต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกด้วยการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ นอกจากนี้หัวใจของพวกเขายังเปิดกว้างออกให้กับการดะอฺวะฮฺในหนทางของอัลลอฮด้วย ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นด้วยการมอบหมายอย่างแท้จริงต่ออัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์และสูงส่งยิ่ง
อัลลอฮได้ตรัสไว้ว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا مَنْ يَرْتَدَّ مِنْكُمْ عَنْ دِينِهِ فَسَوْفَ يَأْتِي اللَّهُ بِقَوْمٍ يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ أَذِلَّةٍ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ أَعِزَّةٍ عَلَى الْكَافِرِينَ يُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَلَا يَخَافُونَ لَوْمَةَ لَائِمٍ ذَلِكَ فَضْلُ اللَّهِ يُؤْتِيهِ مَنْ يَشَاءُ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าออกจากศาสนาของพวกเขาไป อัลลอฮจะทรงนำมาซึ่งคนกลุ่มหนึ่งที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดาผู้ศรัทธา ไว้เกียรติแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะเสียสละและต่อสู้ในทางของอัลลอฮ และไม่กลัวการตำหนิของผู้ตำหนิคนใด นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮ ซึ่งพระองค์จะทรงประทานมันแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮคือผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้ (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 54)
พวกเขาไม่กลัวคำครหาใดของผู้คนที่ต่อว่าพวกเขาในขณะที่เสียสละและต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ เพราะพวกเขามอบหมายต่อพระองค์ด้วยความสัจจริง พวกเขาถวายชีวิตของตนเองเพื่ออัลลอฮ และไม่หันเหไปสู่สิ่งอื่น แม้ว่ามนุษย์จะพอใจต่อพวกเขาหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่พวกเขาแสวงหามีเพียงความพอพระทัยของอัลลอฮฺเท่านั้น
ในหะดีษบทหนึ่งระบุไว้ว่า
مَنِ التَمَسَ رِضَا اللَّهِ بِسَخَطِ النَّاسِ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ وَأَرْضَى عَنْهُ النَّاسَ وَمَنِ التَمَسَ رِضَا النَّاسِ بِسَخَطِ اللَّهِ سَخِطَ اللَّهُ عَلَيْهِ وَأَسْخَطَ عَلَيْهِ النَّاسَ
ผู้ใดแสวงหาความพอพระทัยของอัลลอฮ โดยแลกกับความเกลียดชังของมนุษย์ อัลลอฮจะพอพระทัยต่อตัวเขา และจะทรงให้มนุษย์พึงพอใจเขาด้วย และผู้ใดที่แสวงหาความพึงพอใจของมนุษย์ โดยแลกกับความโกรธกริ้วของอัลลอฮ อัลลอฮจะทรงโกรธกริ้วเขา และจะทำให้มนุษย์โกรธเกลียดเขาด้วย” (บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 2414, อิบนุหิบบาน 1/510 หะดีษจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ, เชคชุอัยบฺ อัลอัเนาอูฏ กล่าวว่า สายรายงานหะดีษนี้หะสัน ส่วนเชคอัลบานีย์กล่าวว่า หะดีษนี้เศาะฮีหฺ)
การพึ่งพาและการมอบหมายต่ออัลลอฮ พร้อมกับการถวายการงานทั้งหมดต่อพระองค์นั้น คือ พื้นฐานแห่งการให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ (เตาฮีด) เป็นพื้นฐานของการงานและความดีงามทั้งหลาย ฉะนั้น อัลลอฮจึงทำให้การมอบหมายคือเงื่อนไขของความศรัทธา
อัลลอฮ ผู้ทรงบริสุทธิ์ลสูงส่งยิ่ง ได้ตรัสไว้ว่า
وَعَلَى اللَّهِ فَتَوَكَّلُوا إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ
และแด่อัลลอฮ พวกเจ้าจงมอบหมายเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา (อัลมาอิดะฮฺ 5 : 23)
สิ่งสำคัญที่จะต้องเอาใจใส่อย่างยิ่งในการเข้าใจความหมายของการมอบหมาย (ตะวัลกัล) ก็คือ การมอบหมายต่ออัลลอฮนั้นจะต้องประกอบด้วย 2 เงื่อนไข คือ
1.ให้หัวใจพึ่งพาอัลลอฮฺแต่พียงผู้เดียว
2.มุ่งมั่นพยายาม (ปฏิบัติสาเหตุหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะทำให้การงานหนึ่งประสบความสำเร็จ)
จึงเป็นไปได้ที่คน ๆ หนึ่งจะเพียรพยายามอย่างเต็มที่ แต่มิได้มอบหัวใจของเขาให้พึ่งพาต่ออัลลอฮ เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และไม่บังควรอีกเช่นกัน หากใครคนหนึ่งจะมอบหมายต่ออัลลอฮ แต่มิได้พยายามทำในสิ่งที่เขาควรทำ
มีเรื่องราวหนึ่งที่สามารถเป็นบทเรียนได้ คือ ท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏอบ เคยพบเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเป็นผู้มอบหมายต่ออัลลอฮ แต่พวกเขามิได้เพียรพยายามใด ๆ ทั้งสิ้นเลย ท่านอุมัรจึงถามพวกเขาว่า “พวกท่านคือใคร?” พวกเขาตอบว่า “เราคือผู้ที่มอบหมายต่ออัลลอฮ (มุอัลตะวักกิลูน)” ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า “ไม่ใช่ พวกท่านคืออัลมุตะวากิลูน (หมายถึง ผู้รอบคอยอาหารกิน) ต่างหาก”
คือ พวกเขาคือผู้ที่ชอบยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ใช่ผู้ที่มอบหมายต่ออัลลอฮแต่อย่างใด เพราะผู้มอบหมาย (ที่แท้จริง) นั้นจะต้องมีความพยายามอุตสาหะด้วย
ท่านอุมัร บินอัลค็อฏฏอบ ยังกล่าวไว้อีกว่า
لَقَدْ عَلِمْتُمْ أَنَّ السَّمَاءَ لَا تُمْطِرُ ذَهَبًا وَلَا فِضَّةً
“พวกท่านรู้อยู่แล้วว่า ท้องฟ้าจะไม่โปรยน้ำฝนลงมาเป็นทองคำและเงิน”
ท่านอุมัรกล่าวสิ่งนี้ก็เพื่อปรามผู้คนมิให้เอาแต่อิบาดะฮฺ โดยไม่แสวงปัจจัยยังชีพ คนเหล่านั้นคือจอมขี้เกียจที่คอยแต่ให้ผู้อื่นช่วยเหลือ ท่านอุมัรจึงต่อว่าพวกเขาและกล่าวถ่อยคำดังกล่าวข้างต้น
ดังกล่าวนี้คือ ภาคผลจากการมอบหมายต่ออัลลอฮโดยสังเขป ซึ่งผมคัดมาจากคำอธิบายของเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน หะฟิเซาะฮุลลอฮ (นักวิชาการจากซาอุดิอารเบีย) ในหนังสือต่าง ๆ ของท่าน มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮ ผู้ทรงประทานความดีงามที่สมบูรณ์
———————–
อ้างอิง : มัจญฺมูอะตุร เราะสาอิล อัดดะอฺวิยยะฮฺ วะมันฮะญิยยะฮฺ โดยเชคศอลิหฺ อัลเฟาซาน หน้าที่ 270 และ 280-283