:: สมถะ : คุณลักษณะที่ต้องมี ::
มุฮัมหมัด อับดุฮฺ ตัวสิกัล เขียน I Zunnur แปล
มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮ พระผู้เป็นเจ้าแห่งจักรวาล ขอพรและความศานติจงแด่ท่านนบีมุฮัมหมัดของเรา ตลอดจนครอบครัวและมิตรสหายของท่าน
นี่คือคุณลักษณะที่ประเสริฐ ที่บ่าวของอัลลอฮฺทุกคนควรเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อให้ได้มา ท่านอบุลอับบาส สะฮลฺ บินสะอดฺ อัสสะอฺดีย์ เราะหิมะฮุลลอฮ ได้กล่าวว่า
جَاءَ رَجُلٌ إِلَى النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَ سَلَّمَ فَقَالَ : يَا رَسُوْلَ اللهِ دُلَّنِي عَلَى عَمَلٍ إِذَا عَمِلْتُهُ اَحَبَّنِيَ اللهُ وَ اَحَبَّنِيَ النَّاسُ فَقَالَ : اِزْهَدْ فِي الدُّنْيَا يُحِبُّكَ اللهُ وَازْهَدْ فِيْمَا عِنْدَ النَّاسِ يُحِبُّكَ النَّاسُ
ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮ โปรดแนะนำแก่ฉันซึ่งการงานหนึ่งที่หากฉันปฏิบัติมันแล้ว อัลลอฮจะทรงรักฉัน และมนุษย์ก็จะรักฉันด้วย” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ท่านจงสมถะต่อโลกนี้ แล้วอัลลอฮจะทรงรักท่าน และจงสมถะต่อสิ่งที่มีอยู่กับมนุษย์ แล้วมนุษย์จะรักท่าน” (หะดีษหะสัน บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ และคนอื่นๆ ด้วยสายรายงานที่หะสัน)
บทเรียนจากหะดีษบทนี้
1- เศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นเป็นคนที่ต้องการการทำความดีมาก ๆ พวกเขาคือแกนนำในการปฏิบัติความดีก่อนผู้อื่นเสมอ พวกเขามีความจริงจัง (และจริงใจ) ในการเรียนรู้การงานต่าง ๆ ที่จะทำให้พวกเขาได้รับความรักจากอัลลอฮและความรักจากมนุษย์ ดังนั้น พวกเขาจึงถามสิ่งนี้กับท่านเราะสูลุลลอฮ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
2- คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ที่ว่า “ท่านจงสมถะต่อโลกนี้ (ดุนยา) เถิด แล้วอัลลอฮจะทรงรักท่าน” ทำให้ทราบว่า ความรักของอัลลอฮนั้นจะถูกมอบให้กับคนที่สมถะต่อโลกใบนี้ เป็นคำพูดที่ดีงามยิ่ง “จงสมถะต่อดุนยา” หมายถึง การที่คน ๆ หนึ่งละทิ้งสิ่ง ๆ หนึ่งที่จะทำให้เขาออกห่างจากการรำลึกถึงและใกล้ชิดกับอัลลอฮ คำอธิบายนี้มีมาจากท่านอัลหาฟิซ อิบนุเราะญับ อัลหัมบะลีย์ ในการอธิบายหะดีษนี้ในหนังสือ “ญามิอุล อุลูม วัลหิกัม” เล่มที่ 2 หน้าที่ 186 จากอบู สุลัยมาน อัดดารอนีย์
ท่านกล่าวว่า “บรรดาอุลามาอ์ในอิรักมีความเห็นต่างกันในนิยามของคำว่า “สมถะ” บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า “ความสมถะคือการห่างไกลจากมนุษย์” และบางคนกล่าวว่า “สมถะคือการละทิ้งอารมณ์ใคร่” และมีบางคนกล่าวว่า “สมถะคือการละทิ้งจากความร่ำรวยและมั่งมี” ซึ่งคำอธิบายทั้งหมดนี้มีความหมายไปทางเดียวกัน แล้วอัดดารอมีย์ก็กล่าวว่า เขามีความโน้มเอียงไปทางทัศนะที่ว่า “ความสมถะคือการละทิ้งสิ่ง ๆ หนึ่งทำให้ออกห่างจากการรำลึกถึงอัลลอฮ” มากกว่า คำอธิบายของท่านดีเยี่ยมมาก ๆ เพราะคำอธิบายดังกล่าวครอบคลุมความหมายและชนิดของความสมถะในทุกรูปแบบ”
3- ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ยังกล่าวอีกว่า “และจงสมถะต่อสิ่งที่มีอยู่กับมนุษย์ แล้วมนุษย์ก็จะรักท่าน” เป็นที่รู้กันดีว่ามนุษย์นั้นมีความโลภต่อทรัพย์สินและความสุขสบายต่าง ๆ ของชีวิตบนโลกใบนี้ ส่วนมากของพวกเขามีความตระหนี่ และหนักใจในการใช้จ่ายเพื่อกุศลทาน ทั้งที่อัลลอฮ สุบหานะฮุ วะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า
فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ وَاسْمَعُوا وَأَطِيعُوا وَأَنفِقُوا خَيْراً لِّأَنفُسِكُمْ وَمَن يُوقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ
ดังนั้น จงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถเถิด และจงเชื่อฟังและปฏิบัติตาม และจงบริจาค มันเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับตัวของพวกเจ้า และผู้ใดถูกปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่ในจิตใจของเขา ชนเหล่านั้นพวกเขาก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จ (อัตตะฆอบุน 64 : 16)
ไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดใจเลยกับคนที่โลภมากต่อดุนยาและสิ่งที่ถูกเผยให้แก่เขา เมื่อคน ๆ หนึ่งมีความพอเพียงต่อสิ่งที่มีอยู่กับคนอื่น ๆ (หมายถึง ไม่ต้องการ ไม่อยากได้ของผู้อื่น) เขาก็จะได้รับความรักจากคนเหล่านั้น มนุษย์ก็จะรักเขา และหลังจากนั้นเขาก็จะปลอดภัยจากความชั่วร้ายของพวกเขา
4- ประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับจากหะดีษบทนี้คือ
(1) บรรดาเศาะหาบะฮฺมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติสิ่งที่จะทำให้เขาได้รับความรักจากอัลลอฮและมนุษย์
(2) หะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานว่า อัลลอฮฺทรงมีคุณลักษณะ “มะหับบะฮฺ” (รัก)
(3) ความดีงามสำหรับปวงบ่าวนั้นคือเมื่ออัลลอฮฺรักเขา และการจะได้รับความรักจากอัลลอฮ ก็ด้วยกับการที่มีความสมถะต่อดุนยา
(4) เมื่อคน ๆ หนึ่งมีความสมถะต่อสิ่งที่มีอยู่กับมนุษย์ นั่นคือสาเหตุที่จะทำให้เขาได้รับความรักจากพวกเขา ด้วยความสมถะนี้เองจะทำให้เขาได้รับความดีงาม และปลอดภัยจากความชั่วร้ายของมนุษย์
———————-
อ้างอิง : คำอธิบายหะดีษที่ 31 หนังสือ 40 หะดีษอันนะวะวีย์ โดยเชคอับดุลมุหฺสิน อัลอับบาด ในหนังสือ “ฟัตหุล เกาะวิยฺยุล มะตีน ฟี ชัรหิล อัรบะอีน วะตะติมมะติล ค็อมสีน”