:: ดุอาอ์ & การลิขิตของอัลลอฮฺ (1) ::
มีประเด็นปัญหายอดนิยมข้อหนึ่ง (เกี่ยวกับการขอดุอาอ์) คือ หากสิ่งที่ขอดุอาอ์ถูกลิขิตหรือกำหนด (ตักดีร) ไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าบ่าวจะขอดุอาอ์หรือไม่ และ (ในทางกลับกัน) หากไม่ได้ถูกลิขิตไว้แต่แรกสิ่งนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น ไม่ว่าบ่าวจะขอดุอาอ์หรือไม่ก็ตาม
ซึ่งคนบางกลุ่มคิดว่าความคิดดังกล่าวนั้นถูกต้อง พวกเขาจึงละทิ้งการขอดุอาอ์และกล่าวว่า “มันไม่มีประโยชน์” ในความโง่เขลาและความหลงผิดของพวกเขานั้นมีความขัดแย้งกันเองอยู่ และความเข้าใจของพวกเขายังบังคับให้ต้องปฏิเสธอัสบาบ (ความพยายามของมนุษย์) ทั้งหมดด้วย จึงขอตั้งคำถามบางอย่างกับพวกเขาดังนี้
หากความอิ่มและไม่กระหายได้ถูกลิขิตให้กับคุณแล้ว มันก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าคุณจะทานอาหาร (และดื่มน้ำ) หรือไม่ แต่ถ้ามันไม่ได้ถูกลิขิตไว้แต่แรก มันก็จะไม่เกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าคุณจะทานอาหารหรือไม่ทานอาหารก็ตาม และหากการมีลูกได้ถูกลิขิตไว้ให้คุณแล้ว ลูกก็จะเกิดขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะมีร่วมหลับนอน (มีเพศสัมพันธ์) กับภรรยาหรือทาสีหรือไม่ แต่ถ้าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ถูกลิขิตเอาไว้ ลูกก็จะไม่เกิดขึ้นมา ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องแต่งงาน (และร่วมหลับนอนกับภรรยา) และไม่จำเป็นต้องมีทาสี (และร่วมเพศกับเธอ) ด้วย และเป็นตามนั้นต่อไป ๆ
คนที่มีสติปัญญาหรือคนปกติดีจะพูดอย่างนี้หรือ? แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีสัญชาตญาณในการดิ้นรนพยายามเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดต่อไปเลย ถ้าอย่างนั้นสัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ก็มีสติปัญญาและความเข้าใจที่ดีกว่าคนพวกนี้ที่เหมือนกับพวกปศุสัตว์ และอาจจะหลงทางยิ่งกว่าอีก
พวกเขาบางคนอวดฉลาดและพูดว่า “การยุ่งอยู่กับการขอดุอาอ์นั้นเป็นเพียงการตะอับบุด (การอิบาดะฮฺหรือการแสดงออกซึ่งความเป็นบ่าว) เท่านั้น อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนผลบุญแก่ผู้ที่ขอดุอาอ์ แต่มันไม่ได้มีผลใด ๆ กับการตอบรับดุอาอ์ที่เขาขอ”
สำหรับคนอวดฉลาดพวกนี้แล้ว ระหว่างการขอดุอาอ์ด้วยหัวใจและลิ้นกับการไม่ขอนั้น ไม่มีข้อแตกต่างใด ๆ ในเรื่องการส่งผลให้ได้รับในสิ่งที่คาดหวัง สำหรับพวกเขาแล้วความเกี่ยวข้องของดุอาอ์กับผลลัพธ์นั้นก็เหมือนกับความเกี่ยวข้องของการเงียบ ไม่แตกต่างกันเลย (คือ ไม่ว่าจะขอดุอาอ์หรือไม่ ผลลัพธ์ก็เหมือนกัน ถ้าสิ่งที่ขอถูกลิขิตไว้แต่แรก มันก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ มันก็ไม่เกิดขึ้น – ผู้แปล)
———-
จากหนังสือ “อัดดาอ์ วัดดะวาอ์”
(หรือ “อัลญะวาบุลกาฟีย์ ลิมัน สะอะละ อะนิด ดะวาอิชชาฟีย์”)
โดย อิมามอิบนุก็อยยิม อัลเญาซิยยะฮฺ